Get to Know!! ระวังภัย 6 โรคร้ายที่มากับน้ำท่วม

มาแล้ว มาแล้ว น้ำท่วมมาแล้ว! หลายจังหวัดในประเทศไทยเผชิญสถานการณ์น้ำท่วมจนเดือดร้อนกันไปทั่ว จำได้ว่าน้ำท่วมตอนปี 2554 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเดือดร้อนกันสาหัส แต่น้ำท่วมปีนี้ พี่น้องในหลายจังหวัดไม่ว่าจะเป็นอยุธยา อ่างทอง สระบุรี ลพบุรี สุโขทัย นครราชสีมา ชัยภูมิ  และอีกกหลายจังหวัดที่ไม่ได้กล่าวมาเดือดร้อนจากอุทกภัยกันจนอ่วม

น้ำท่วมปี 2564 นี้ก็ใช่ว่ากรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียงจะรอด เห็นจากภาพข่าว และข่าวลือกันว่าปทุมธานี นนทบุรี รวมทั้งกรุงเทพฯ ก็เข้าคิวรอรับน้ำกันแล้วโดยเฉพาะบ้านเรือนที่อยู่ริมแม่น้ำ Central Inspirer ขอเป็นกำลังใจ ให้พี่น้องเตรียมรับน้ำ ขอข้าวของขึ้นที่สูง แต่ทางที่ดีที่สุดขอให้น้ำไม่ท่วม พื้นที่ไหนที่กำลังท่วม ก็ขอให้น้ำลดลงโดยเร็วค่ะ

เมื่อพูดถึงสถานการณ์อุทกภัยน้ำท่วมก็มักจะมาพร้อมโรคร้ายและโรคติดต่อ ไหนๆ เราต้องเผชิญกับสภาวะน้ำท่วมแล้ว เราควรทำความรู้จักและเตรียมพร้อมป้องกัน 6 โรคติดต่อและโรคร้ายที่มากับน้ำท่วมกันดีกว่าค่ะ

6 โรคติดต่อและโรคร้ายที่มากับน้ำท่วม

1. โรคฉี่หนู (Leptospirosis)

เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากจากสัตว์สู่คน โดยมีหนูเป็นพาหะตัวแพร่เชื้อ โดยเชื้อโรคจะออกมากับฉี่ของหนูแล้วปนเปื้อนอยู่ในน้ำที่ท่วมขัง พื้นดินที่ชื้นแฉะ เชื้อจะข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลสด รอยขีดข่วน รอยถลอก หรือเข้าทางเยื่อบุตา จมูก และปาก

อาการ

  • หลังได้รับเชื้อ 4-10 วัน จะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน
  • มีอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะบริเวณน่อง และโคนขา หรือมีอาการปวดหลัง
  • บางคนอาจมีอาการตาแดง เจ็บคอ เบื่ออาหาร และท้องเสีย
  • หากปล่อยทิ้งไว้ ไม่รีบรักษา อาจทำให้มีอาการไอปนเลือด ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะน้อย และเซื่องซึมจากอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และสามารถเสียชีวิตได้

การป้องกัน

  • หลีกเลี่ยงการย่ำน้ำ หรือการแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานาน ถ้าจำเป็นต้องสวมรองเท้าบู๊ทกันน้ำ
  • หลังการแช่น้ำ ต้องรีบทำความสะอาดร่างกาย อาบน้ำ ฟอกสบู่ให้สะอาด โดยเฉพาะตามง่ามนิ้วเท้า หรือบริเวณที่มีแผลสด และรอยขีดข่วน
2. โรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร

เป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการอุจจาระร่วง อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ โรคบิด ไทฟอยด์ และโรคตับอักเสบ ซึ่งล้วนสามารถเกิดได้ในช่วงน้ำท่วมเพราะของเสีย เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ ที่อาจปนเปื้อนมากับน้ำ และเชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยผ่านการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป ช่วงน้ำท่วม

อาการ
อาการที่พบอาจแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่จะมีอาการปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำ ถ่ายบ่อยครั้ง มีอาการคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร หรืออาจมีอาการถ่ายเป็นมูกเลือดได้อีกด้วย

การป้องกัน

  • ดูแลความสะอาดในเรื่องอาหารการกินและน้ำดื่มในช่วงน้ำท่วม รวมทั้งล้างมือให้สะอาด
  • รับประทานอาหารที่ปรุงสุก
  • ดื่มน้ำสะอาด
  • แยกขยะ หรือของเสีย เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ หรือขยะเปียกไม่ให้ปนเปื้อนไปในน้ำ
3. โรคระบบทางเดินหายใจ (Respiratory Diseases)

โรคระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อยในช่วงอุทกภัยน้ำท่วม ได้แก่ ไข้หวัด ไข้หวัดทั่วไป ไข้หวัดใหญ่ใหญ่ ปอดบวมซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรีย  ที่สามารถติดต่อแพร่กระจายได้ผ่านเสมหะ น้ำลาย น้ำมูก

อาการ

  • มีไข้สูง ปวดศีรษะ
  • ครั่นเนื้อครั่นตัว
  • มีน้ำมูกไหล คัดจมูก ไอจาม เจ็บคอ
  • อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย เบื่ออาหาร

การป้องกัน

  • ดูแลร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ
  • หลีกเลี่ยงการแช่น้ำเป็นเวลานาน
  • ไม่สวมเสื้อผ้าที่เปียกชื้น
  • เช็ดตัวให้แห้ง
  • หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นหวัด
  • ปิดปากและจมูกเวลาไอ หรือ จาม
  • ล้างมือเป็นประจำ ด้วยน้ำและสบู่
4. โรคผิวหนัง (Eczema หรือ Dermatitis)

เป็นโรคร้ายที่มักจะมากับน้ำท่วม เป็นโรคเกิดจากน้ำท่วมขัง เช่น โรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อรา หรือแผลผุพองเป็นหนอง เพราะร่างกายต้องแช่น้ำเป็นเวลานาน รวมถึงความอับชื้นจากเสื้อผ้าที่เปียก และไม่สะอาด

อาการ

  • เท้าเปื่อยและเป็นหนอง
  • คันตามซอกนิ้วเท้า
  • ผิวหนังลอกเป็นขุย
  • มีผื่นผุพอง
  • ผิวหนังอักเสบบวมแดง
  • ระยะแรก อาจมีอาการเท้าเปื่อย เป็นหนอง

การป้องกัน

  • พยายามไม่แช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานานๆ
  • ถ้าต้องเดินย่ำน้ำ หรือแช่อยู่ในน้ำ ควรใส่รองเท้าบู๊ทกันน้ำ
  • ล้างเท้าให้สะอาดหลังการแช่อยู่ในน้ำ
  • หากพบว่ามีบาดแผลที่เท้า ควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดแผล แล้วทายาฆ่าเชื้อ
5. โรคไข้เลือดออก (Dengue Fever)

เป็นโรคติดต่อที่มียุงลายเป็นพาหะ หากพบว่ามีอาการที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที หากต้องการใช้ยาลดไข้ ควรใช้ยาพาราเซตามอล ห้ามรับประทานยาแอสไพริน เพราะจะเป็นอันตรายทำให้มีอาการเลือดออกง่าย

อาการ

  • มีไข้สูงตลอดทั้งวัน ประมาณ 2-7 วัน
  • ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว
  • หน้าแดง อาจมีจุดแดงเล็กๆ ขึ้นตามลำตัว แขน และขา
  • มีอาการคลื่นไส้ อาเจียร ปวดท้อง และเบื่ออาหาร
  • ต่อมาอาการไข้จะเริ่มลดลง ซึ่งเป็นระยะที่ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดอาการรุนแรง โดยผู้ป่วยจะกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น หรือมีเลือดออกผิดปกติ เช่น ถ่ายดำ หรือไอปนเลือด อาจมีภาวะช็อค และเสียชีวิตได้

การป้องกัน

  • บริเวณที่มีน้ำท่วมขังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ดังนั้นจึงควรกำจัดลูกน้ำและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยปิดฝาภาชนะเก็บน้ำไม่ให้มีน้ำขัง
  • ต้องระวังอย่าให้ยุงกัดในตอนกลางวัน
  • นอนกางมุ้ง และทายากันยุงเพื่อป้องกัน
6. โรคตาแดง (Conjunctivitis)

โรคนี้มักจะระบาดในช่วงฤดูฝน ซึ่งสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่เยื่อบุตา เชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถกระจายตัวได้ง่ายในฤดูฝน ในช่วงเวลาที่มีน้ำท่วม

อาการ

  • หลังจากที่ได้รับเชื้อ 1-2 วัน จะเริ่มมีอาการระคายเคืองตา ปวดตา น้ำตาไหล กลัวแสง มีขี้ตามาก หนังตาบวม และเยื่อบุตาขาวอักเสบแดง
  • เป็นโรคที่มักหายได้เองในเวลา 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าไม่ดูแลรักษาให้ถูกวิธีอาจเกิดอาการแทรกซ้อนได้ เช่น กระจกตาดำอักเสบ ซึ่งจะมีอาการทำให้ทำให้ปวดตา

การป้องกัน 

  • เมื่อดวงตาโดนน้ำสกปรก ควรรีบล้างด้วยน้ำสะอาดทันที
  • ไปพบแพทย์เพื่อรับยาหยอดตา หรือยาป้ายตาเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน
  • หากมีไข้ให้กินยาลดไข้แก้ปวดตามอาการ
  • ล้างมือ และรักษาทำความสะอาดอยู่เสมอ
  • ไม่ขยี้ตา หรือใช้สายตามากเกินไป
  • ระวังติดต่อกับผู้อื่น เพราะเป็นโรคติดเชื้อที่ติดต่อกันได้ผ่านการใช้สิ่งของร่วมกัน
  • ถ้ามีอาการปวดตารุนแรง หรืออาการไม่หายใน 1 อาทิตย์ ควรไปพบแพทย์อีกครั้ง

ไม่เพียงแต่โรคร้าย ยังมีอันตรายและอุบัติเหตุต่างๆ เช่น การโดนไฟดูด การเหยียบของมีคมที่ซ่อนตัวอยู่ใต้น้ำ หรือการจมน้ำ รวมถึงการถูกสัตว์ร้ายมีพิษ เช่น งู ตะขาบ หรือแมลงป่องที่หนีน้ำมาอาศัยอยู่บริเวณบ้านเรือนคนกัดหรือต่อย ดังนั้นในช่วงน้ำท่วมที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ ผสานกับการระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงความรุนแรงอย่างไม่หยุดหย่อน Central Inspirer ขอให้ทุกคนระมัดระวังภัย อย่าตกอยู่ในความประมาท และขอให้เราทุกคนผ่านเรื่องเลวร้ายไปด้วยกันอย่างปลอดภัยทุกคนนะคะ