การเฉลิมฉลองปีใหม่แบบสากลเราทุกคนทราบกันดีว่าจะตรงกับวันที่ 1 มกราคม แต่สำหรับบางประเทศวันปีใหม่อาจไม่ใช่วันนี้เสมอไป อาทิ ประเทศของเราจะนับเอาวันสงกรานต์ซึ่งตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกๆ ปี ส่วนทางด้านประเทศจีน เขาก็จะมีวันตรุษจีนนั่นเอง แต่ที่มาดามจะนำมาเล่าให้ฟังในวันนี้จะเป็นการเฉลิมฉลองที่ใกล้เคียงกับปีใหม่แบบชาวฮินดู ที่เรียกว่าเทศกาลแห่งสีสัน หรือ เทศกาล โฮลี (Holi) ที่มีการ “สาดสี” อันเป็นเอกลักษณ์นั่นเอง เรามาทำความรู้จักเทศกาลนี้ให้มากขึ้นกันค่ะ
ที่มาที่ไปของเทศกาลโฮลี
เทศกาลโฮลีจะถูกจัดขึ้นในเดือนมีนาคมหรือปลายเดือนกุมภาพันธ์ แต่วันที่จะไม่ตายตัวขึ้นอยู่กับปฏิทินจันทรคติ โดยจะนับเอา “วันที่พระจันทร์เต็มดวง” เป็นวันที่จัดเทศกาลค่ะ (วันที่เริ่มสาดสี)
เทศกาลโฮลีมีมาอย่างยาวนาน เรียกได้ว่า “เก่าแก่ที่สุด” ของชาวฮินดูเลย ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเนปาลและอินเดีย ถูกจัดขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของ “ความดีชนะความชั่ว” โดยเรื่องราวจะเป็นแบบนี้ค่ะ โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ตำนาน
พระวิษณุและโฮลิกา:
- หิรัณยะกศิปุ (Hiranyakashipu) เป็นปีศาจที่มีความมักใหญ่ใฝ่สูง อยากให้คนเคารพบูชาแทนเทพเจ้า แต่เหมือนมีกรรม พระปราหลาด (Prahlad) ลูกชายหัวแก้วหัวแหวน กลับไปเป็นสาวกของพระวิษณุซะอย่างนั้น!
- หิรัณยะกศิปุโกรธมาก จึงสั่งให้ โฮลิกา (Holika) พี่สาวที่มีผ้าคลุมกันไฟ ไปจับตัวพระปราหลาดขึ้นกองไฟ เพื่อเผาเขาให้สิ้นซาก
- แต่ด้วยคุณความดีของพระปราหลาด ผ้าคลุมกันไฟกลับไปปกป้องเขาแทน นั่นเป็นเหตุให้ โฮลิกากลับกลายเป็นผู้ถูกเผาทำลายในกองเพลิงแทน
ด้วยตำนานนี้ คือก่อนวันโฮลี จะมีการ “เผาหุ่นฟางโฮลิกา” เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการทำลายความชั่วร้ายนั่นเอง
พระกฤษณะและราธา:
- มีเรื่องเล่าว่า นานมาแล้วพระกฤษณะที่มีผิวสีน้ำเงินเข้ม เกิดความรู้สึกไม่มั่นใจในสีผิว เมื่อเทียบกับนางธาราผู้มีผิวขาว
- พระนางยโสธรา แม่ของพระกฤษณะ แนะนำให้พระองค์สาดสีใส่นางธารา เพื่อให้ทั้งคู่มีสีผิวเดียวกันนั่นเอง
นี่จึงกลายเป็นความว่าต้องมีการ “สาดสี” ในวันโฮลีนั่นเอง
พวกเขาทำอะไรกันบ้างในวันโฮลี!?
จริงๆ เทศกาลนี้เขาจะเริ่มกันตั้งแต่ก่อนวันจริงเลย 1 วัน ตามที่เล่าไปแล้วในช่วงต้นค่ะ โดยพวกเขาจะเผาหุ่นฟางของโฮลิกา ส่วนในวันต่อมาพวกเขาจะเริ่มเฉลิมฉลองกันด้วยการสาดสี โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ความหมายของสีในเทศกาล:
ในอดีต เทศกาลนี้จะใช้สีที่มาจากวัสดุธรรมชาติค่ะ อาทิ ดอกไม้ สมุนไพร และขมิ้น แต่ปัจจุบันจะเปลี่ยนมาใช้สีสังเคราะห์มากขึ้น
- สีแดง (Red) – สื่อถึงความรักและพลัง
- สีเหลือง (Yellow) – แทนความบริสุทธิ์และสุขภาพดี (มักใช้ขมิ้นเป็นส่วนผสม)
- สีเขียว (Green) – หมายถึงธรรมชาติและการเริ่มต้นใหม่
- สีน้ำเงิน (Blue) – เป็นสัญลักษณ์ของพระกฤษณะ
- สีม่วง (Purple) – แทนความลึกลับและจิตวิญญาณ
- สีส้ม (Orange) – สื่อถึงความศรัทธาและพลังบวก
วัสดุยอดนิยมที่ใช้ในการสาดสี:
- กุหลาล (Gulal) – ผงสีแบบแห้งที่ใช้โปรยใส่กัน (ในอดีตจะเป็นดอกไม้ สมุนไพร)
- อะเบียร์ (Abeer) – ผงสีชนิดละเอียดที่ให้สัมผัสนุ่ม
- น้ำสี (Colored Water) – นำน้ำผสมกับผงสีแล้วใส่ลงปืนฉีดน้ำ (Pichkari) หรือถังสาดใส่กัน
- บอลลูนใส่น้ำสี – นำสีใส่ลูกโป่งแล้วขว้าง
- ดอกไม้สด – บางพื้นที่ เขาจะใช้เป็นกลีบดอกไม้แทน เช่น บริเวณวัด
นอกจากการสาดสีแล้ว ในช่วงเทศกาลเขายังมีการ ร้องเพลง เต้นรำ กันอย่างสนุกสนาน นอกจากนี้ยังมีการดื่ม “ภาง” เครื่องดื่มประจำเทศกาลอีกด้วย
คำแนะนำสำหรับคนที่อยากไปร่วมเทศกาล
สำหรับใครที่อยากไปร่วมเทศกาล มาดามมีคำแนะนำตามนี้ค่ะ รับรองว่าจะช่วยให้คุณสนุกและปลอดภัยในเทศกาลนี้มากขึ้นค่ะ
- แนะนำให้ใช้สีจากธรรมชาติ เพื่อลดการระคายเคือง
- ควรทาวาสลีนหรืออยล์ลงบนผิว เพื่อป้องกันผิวไม่ให้ติดสีค่ะ
- ใส่เสื้อผ้าสีขาว เวลาโดนสีจะสวยขึ้น เพิ่มความสนุก
- ควรใส่แว่นตากันแดด เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้สีโดนตาค่ะ
วันโฮลีเป็นวันส่งท้ายปีเก่าของชาวฮินดูจริงหรือไม่?
หลังจากไปค้นหามา มาดามพบว่าวัน โฮลี ไม่ใช่วันปีใหม่เสียทีเดียว แม้ว่า โฮลี จะมีความหมายที่สื่อถึงการส่งท้ายปีเก่า แต่มีความใกล้เคียงมาก เพราะ สื่อถึงการเริ่มต้นใหม่ ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งมีความคล้ายกับนิยามปีใหม่ของหลายๆ วัฒนธรรม ค่ะ ครั้งนี้มาดาม หาวันปีใหม่ของชาวฮินดูมาฝากด้วยค่ะ โดยจะแตกต่างไปตามภูมิภาค ดังนี้
- Ugadi (อูกาดี) – ปีใหม่ของชาวฮินดูในรัฐอานธรประเทศและกรณาฏกะ
- Gudi Padwa (กุดีปัฑวา) – ปีใหม่ของชาวมหาราษฏระ
- Baisakhi (ไบซากี) – ปีใหม่ของชาวซิกข์
- Diwali (ทิวาลี) – สำหรับชาวฮินดูบางกลุ่ม (เช่น ในรัฐคุชราต) ถือเป็นวันเริ่มต้นปีใหม่
นี่ก็คือเรื่องราวทั้งหมดของวัน “Holi” ค่ะ เป็นยังไงกันบ้าง สนุกไหมคะ ถ้ามีโอกาสก็อยากให้คุณลองไปสัมผัสกับเทศกาลนี้ที่อินเดียหรือเปนาลซึ่งเป็นสถานที่ให้กำเนิดด้วยตัวคุณเอง สำหรับใครที่อยากไปช้อปปิ้งกันต่อ สามารถไปช้อปกันต่อได้เลยที่ Central Online แหล่งรวมสินค้าจากแบรนด์ชั้นนำที่มีให้คุณเลือกช้อปอย่างหลากหลาย