How-serious-is-it-with-Omicron-BA.4-BA.5

น่าห่วงแค่ไหนกับโควิดสายพันธุ์ใหม่ โอมิครอน BA.4 BA.5

ผู้คนทั่วโลก รวมทั้งคนไทยใช้ชีวิตอยู่กับเชื้อไวรัสโควิด-19 มานานหลายปี ผ่านความรุนแรงของการระบาดกันมาอย่างโชกโชน หลายคนเจ็บป่วยติดเชื้อ หลายชีวิตต้องสูญเสียไป ผู้คนต้องฉีดวัคซีนป้องกันถึงเข็มที่ 4 จนกำลังจะก้าวเข้าสู่เข็มที่ 5 หมดข้อสงสัย หมดความกลัวว่าฉีดแล้วจะส่งผลอย่างไรต่อร่างกายในอนาคต รู้เพียงว่าต้องฉีดหากอยากใช้ชีวิตให้เกือบเป็นปกติ

สำหรับในประเทศไทย ถึงแม้ว่าสถิติการติดเชื้อ และการเสียชีวิตจากโควิด-19 จะลดลงทุกวัน รัฐบาลกำลังจะประกาศให้เชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น แต่โควิด-19 ก็ไม่หยุดที่จะขยายสายพันธุ์ ณ วันนี้ มีโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่เข้ามาบุกจู่โจมประเทศไทยและทั่วโลกอีกครั้ง นั่นคือ โควิดสายพันธุ์โอมิครอน BA.4 BA.5 โควิด-19 สองสายพันธุ์นี้มีความเป็นมาอย่างไร รวมทั้งเราจะหาวิธีป้องกันตัวอย่างไร และก่อนจะประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น มาทำความรู้จักกับคำว่า โรคประจำถิ่น ว่าคืออะไร มาไขข้อข้องใจกันดีกว่าค่ะ 

โรคประจำถิ่นคืออะไร

ENDEMIC 1

โรคประจำถิ่น หรือ Endemic หมายถึงโรคที่เกิดขึ้นประจำในพื้นที่นั้นๆ ตัวเชื้อก่อโรคจะลดความรุนแรงลง ประชากรมีภูมิคุ้มกันเชื้อโรคมากขึ้น อัตราการเสียชีวิตต่ำลง มีอัตราป่วยคงที่ และสามารถคาดการณ์การแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคไข้เลือดออก เป็นต้น

ความเป็นมาของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน BA.4 BA.5

OMICRON BA4 BA5

นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นมา เชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มกลายพันธุ์ไปเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โอมิครอน (Omicron) โดยที่เชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้เกิดจากการกลายพันธุ์ของไวรัสหลายตำแหน่ง ทั้งในส่วนของโปรตีนหนามแหลม (Spike Protein) และส่วนตัวรับ (Receptor-binding Domain) ที่ไวรัสใช้เกาะกับเซลล์ของมนุษย์ สำหรับในประเทศไทย มีผู้คนทยอยการติดเชื้อสายพันธุ์นี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในสัดส่วนที่มากกว่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าถึงประมาณ 4 เท่า

ในช่วงแรก เชื้อไวรัสโอมิครอนที่เป็นหลักในผู้ติดเชื้อคือ สายพันธุ์ย่อย BA.1 ต่อมาก็ขยายสายพันธุ์ย่อยออกมาเป็น BA.2 ที่แพร่เชื้อเร็วกว่า BA.1 ประมาณ 30% แต่ในขณะนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รายงานว่า เชื้อไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 BA.5 ได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากใน 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สัดส่วนของผู้ติดเชื้อเชื้อไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ BA.4 BA.5 มีมากถึง 45.8% ในขณะที่เชื้อ BA.2 ลดลงมาเหลือ 53.8% ผู้ติดเชื้อไวรัสโอมิครอน BA.4 BA.5 ส่วนใหญ่เกิดภายในประเทศมากกว่าผู้เดินทางจากต่างประเทศถึง 2.8 เท่า

อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO) ได้สรุปข้อมูลเบื้องต้นว่า ไวรัสสายพันธุ์ย่อย BA.4 BA.5  มีลักษณะที่เด่นและต่างไปจาก BA.2 ดังนี้

  • มีความสามารถในการแพร่เชื้อได้รวดเร็วกว่า
  • เป็นเชื้อไวรัสที่ดื้อต่อภูมิคุ้มกันของมนุษย์มากขึ้น
  • เป็นเชื้อไวรัสที่ดื้อต่อยารักษาโรคมากขึ้น
  • ความรุนแรงของโรคนั้นยังไม่สามารถสรุปได้ว่ารุนแรงมากน้อยอย่างไร

จากความสามารถของไวรัส BA.4 BA.5 ที่ดื้อต่อภูมิคุ้มกันของมนุษย์มากขึ้น จึงทำให้พบว่าผู้ที่เคยติดโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา จะมีระดับภูมิคุ้มกันที่ไม่สามารถป้องกันการติด BA.4, BA.5 ได้ดีนัก ดังนั้น จึงมีการติดเชื้อซ้ำ (Re-infection) โดยพบว่าในผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน จะมีโอกาสติดเชื้อซ้ำมากกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีน

อาการของผู้ติดเชื้อโควิด สายพันธุ์โอมิครอน BA.4  BA.5

กว่า 50% ของผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อโควิดโอมิค่อนสายพันธุ์ BA.4 BA.5 จะมีอาการดังต่อไปนี้

  • มีอาการอ่อนเพลีย
  • มีอาการไอ
  • มีไข้
  • ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ
  • มีน้ำมูกไหล

และเป็นที่น่าสนใจว่า กลุ่มอาการทางเดินหายใจ เช่น หายใจถี่ และหายใจลำบาก จะสามารถพบได้ในกลุ่มผู้ติดเชื้อไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ BA.4 BA.5 เช่นเดียวกัน กลุ่มอาการทางเดินอาหาร เช่น อาการท้องเสียก็สามารถพบได้มากกว่าสำหรับผู้ป่วยในกลุ่ม BA.4 BA.5 เช่นกัน

วิธีป้องกันตัวจากเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน BA.4 BA.5

ยังคงต้องเน้นย้ำกันว่า การปฏิบัติตัวตามที่เราเคยปฏิบัติกันมาเป็นเวลานานหลายปีในการป้องกันตัวจากเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้นยังคงมีความจำเป็นและความสำคัญอยู่ แม้ว่าเรากำลังเข้าสู่โหมดของการผ่อนปรนอนุญาตให้มีการถอดหน้ากากอนามัยได้แล้ว แต่เชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ยังคงอยู่ และสำหรับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ คุณควรยังคงป้องกันตัวเอง ดังต่อไปนี้

1. ฉีดวัคซีนป้องกัน

1 INJECTION

จากข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน BA.4 BA.5 มีแนวโน้มว่าอาจจะเกาะเซลล์ปอดได้มากกว่า BA.2 จากคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้ศึกษาข้อมูลประชากรกว่า 5 แสนคน พบว่าการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ป้องกันการติดเชื้อได้ 25% หากฉีด 4 เข็มก็จะเพิ่มการป้องกันการติดเชื้อได้สูงถึง 70-75% บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ควรรับการฉีดเข็ม 5 เพราะได้เจอะเจอกับผู้ป่วยและผู้คนมากมายในทุกวัน หากท่านใดที่ยังไม่เคยรับการฉีดวัคซีนป้องกัน หรือยังฉีดไม่ครบตามจำนวนที่กำหนด แนะนำให้ Walk-in เข้าไปฉีดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในสถานที่ที่เขาให้บริการในการฉีดวัคซีน เช่น สถานีกลางบางซื่อ หรือตามโรงพยาบาลของรัฐ หรือห้างสรรพสินค้าต่างๆ โดยสอบถามข้อมูลสำหรับสถานที่ให้บริการได้ที่ Call Center: 02 792 2333

2. คนไทยต้องไม่ลืมป้องกันตัวเอง

2 PROTECTION

ย่างที่บอกไปข้างต้นว่าการผ่อนปรนเรื่องการใส่หน้ากากอนามัยกำลังเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ คนไทยหลายคนดีใจที่จะได้หายใจได้คล่องขึ้น แต่ต้องไม่ลืมที่จะป้องกันตนเองด้วยมาตรการเดิม สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือ เพราะเรายังมีเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบที่ยังไม่ได้รับวัคซีนอีกมากมาย ในขณะที่ยังมีคนกลับมาติดเชื้อโควิด-19 ซ้ำได้ใน 4-6 เดือน หรืออาจจะสั้นกว่านั้น เพียงแต่คนไม่ได้ใส่ใจตรวจอย่างจริงจัง 

ถึงแม้ว่าการระบาดของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ โอมิครอน BA.4 BA.5 อาจไม่น่าเป็นที่วิตกกังวลมากนัก แต่ต้องยอมรับว่าในเร็ววันนี้ โควิด-19 อาจมีการแพร่กระจายและมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น เพราะเป็นช่วงเวลาที่เด็กนักเรียนเปิดเทอม ในประเทศไทยของเราจะพบผู้ป่วยที่เป็นเด็กเพิ่มมากขึ้น และกระจายตัวส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น 

เชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน BA.4 BA.5 นั้นถึงจะไม่มีส่งสัญญาณว่าจะทวีความรุนแรง จะไม่ทำให้เราต้องกังวลใจมากมาย ไม่เข้ามาระบาดสร้างความรุนแรงให้สวนทางกับการประกาศให้เชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น แต่ก็ขอให้ทุกคนอย่าไว้วางใจ ต้องไม่ลืมที่จะป้องกันตัวเอง ควรสวมหน้ากากอนามัยควรเมื่อไปอยู่ในที่มีคนพลุกพล่าน หากมีโรคประจำตัว หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงยิ่งต้องระวังตัวเป็นพิเศษ รวมทั้งล้างมือบ่อยๆ และไม่ลืมที่จะเว้นระยะห่างนะคะ

ความเจ็บป่วยหรือการติดเชื้อโควิด-19 ไม่ใช่เรื่องสนุก ป้องกันไว้ก่อนดีกว่าแก้ ด้วยความรักและห่วงใยจาก Central Inspirer นะคะ Be Healthy Be Happy ค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก: bangkokbiznews.com/prachachat.ne/thansettakij.com

Picture credit: pinterest.com/bbc.com/news-medical.net