New-Mommy-Diary-Chapter-14-how-to-discipline-kids-when-they-use-bad-words

New Mommy Diary Chapter 14: แก้ปัญหาอย่างไรเมื่อลูกพูดคำหยาบ

การเลี้ยงลูกสักคนให้เติบโตเป็นคนดีในรูปแบบที่เราต้องการนั้น ต้องผ่านความยากลำบากและความอดทนของคนเป็นคุณแม่และคุณพ่ออย่างมากมาย กว่าลูกน้อยของเราจะเติบใหญ่ คุณแม่และคุณพ่อต้องผ่านบททดสอบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการอดหลับอดนอน การดูแลและฟูมฟักลูกน้อย ดูแลและทนุถนอมลูกยามที่ลูกเจ็บป่วย เมื่อลูกน้อยถึงวัยเข้าเรียน คุณแม่และคุณพ่อรู้สึกใจหาย ต้องห่างจากลูกน้อย แต่เพื่อให้เขาเติบใหญ่อย่างมีคุณภาพ ให้เขาได้เรียนรู้ เราก็ต้องอดทน

ส่งลูกไปโรงเรียน คุณแม่และคุณพ่อหลายคู่ก็เจอปัญหาและเรื่องราวใหม่ๆ ให้ได้เรียนรู้  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ลูกบาดเจ็บที่โรงเรียน ลูกไม่ชอบรับประทานอาหารที่โรงเรียนจัดไว้ให้ กลับบ้านมาหิวโซ ลูกป่วยเป็นไข้ติดจากเพื่อนที่โรงเรียน หรือแม้แต่ว่าลูกเอาคำหยาบ คำพูดแปลกๆ กลับมาฝากคุณแม่และคุณพ่อที่บ้าน เป็นต้น

CHILD TALKS BAD WORDS

ปัญหาลูกน้อยพูดคำหยาบ มักเกิดขึ้นกับเด็กเล็กในวัยอนุบาล ช่วงอายุประมาณ 4-5 ขวบ เป็นต้นไป เพราะเป็นช่วงวัยที่เด็กน้อยจะช่างพูด ช่างจำนรรจา เป็นวัยหัดพูดและกำลังเรียนรู้ภาษา จึงมักจะใช้คำพูดต่างๆ โดยไม่รู้ความหมายที่ชัดเจน บางทีก็ไปรับคำหยาบมาจากเพื่อนๆ มีพฤติกรรมพูดจาเลียนเเบบ เล่นเอาคุณแม่และคุณพ่ออดสงสัยว่าไปติดคำหยาบ หรือคำพูดแปลกๆ จากไหน ปัญหาเรื่องลูกน้อยพูดคำหยาบ เป็นปัญหาที่มักเกิดขึ้นกับครอบครัวที่มีลูกเล็กหลายบ้าน แล้วเราจะมีวิธีป้องกันและแก้ไขได้อย่างไร Central Inspirer อยากชวนคุณแม่และคุณพ่อที่กำลังประสบกับปัญหานี้มาดูกันค่ะ

เทคนิคการเปลี่ยนพฤติกรรมเมื่อลูกน้อยพูดคำหยาบ

1. ต้องระวังคำพูดเมื่อเวลาอยู่ใกล้ลูก

1 TALK NICE TO CHILDREN

บางทีการป้องกันไม่ให้ลูกพูดคำหยาบอาจต้องเริ่มจากตัวเราก่อน คุณแม่-คุณพ่อ และผู้ใหญ่ที่อาศัยอยู่ภายในบ้านต้องระวังในการใช้คำพูดเวลาสื่อสารกัน ต้องระวังไม่พูดคำหยาบให้ลูกได้ยิน เด็กน้อยอาจไม่เข้าใจความหมายที่เราพูด และอาจติดเอาไปใช้ที่โรงเรียน ลูกอาจไม่เข้าใจว่าทำไมผู้ใหญ่พูดคำหยาบได้ แต่เด็กพูดแล้วกลับถูกลงโทษ คุณแม่และคุณพ่อไม่ควรปล่อยให้ปัญหาลูกน้อยพูดคำหยาบผ่านไป ควรสืบหาแหล่งที่มาของการพูดคำหยาบของลูก เช่น มาจากการที่ตัวเราเผลอพูด ติดจากเพื่อนที่โรงเรียน หรือจากการ์ตูนในแท็บเล็ตที่ลูกชอบดู จากนั้นควรพยายามกันลูกออกจากสิ่งเหล่านั้น เพราะสิ่งแวดล้อมมีผลกับพฤติกรรมของเด็กนะคะ

2. ระมัดระวังสื่อต่างๆ ที่ลูกดู

2 KID PLAYS WITH TABLET

คุณแม่และคุณพ่ออย่าปล่อยวาง หมั่นตรวจตรา ใส่ใจในสื่อต่างๆ เกม หนัง หรือการ์ตูนที่ลูกชอบดู เดี๋ยวนี้เด็กๆ แม้แต่เด็กเล็กในวัย 4-5 ขวบมักติดเกม ติดพี่ๆ ที่รีวิวเกมต่างๆ ในยูทูป และมักใช้คำพูดที่หยาบคายมาก คุณแม่และคุณพ่อต้องหมั่นสังเกต หรือเลือกรายการโทรทัศน์ที่เหมาะสมกับเด็กเล็ก หรือควรเลือกดูรายการที่ไม่มีคำสบถหรือคำไม่สุภาพแทน

3. เล่นเกม ‘ใครพูดคำหยาบ…แพ้’ กับลูก

3 PUNISHMENT

อีกวิธีที่อาจช่วยให้ลูกเลิกพูดคำหยาบได้คือ การคิดเกมสนุกๆ เล่นกับลูกเพื่อให้ลูกเลิกพูดคำหยาบ ก่อนอื่นควรอธิบายให้ลูกฟังว่าการพูดคำหยาบไม่ดีอย่างไร พร้อมตั้งกฏกติกาของการเล่นเกมกับลูกว่า หากใครพูดคำหยาบ จะเป็นคนแพ้ และจะโดนทำโทษ แม้แต่คุณแม่และคุณพ่อเองก็ตาม การทำโทษอาจจะเป็นการสั่งให้ลูกนั่งเงียบเข้ามุมเป็นเวลา 30 นาที งดเล่นเกม หรือดูการ์ตูนบนมือถือ หรือแท็บเล็ตเป็นเวลา 1 วัน หรือให้ลูกช่วยทำงานบ้านเป็นเวลา 3 วัน เป็นต้น หากคุณเองเป็นคนพลาด หลุดปากสบถหรือพูดคำหยาบออกไป คุณก็ต้องโดนทำโทษเช่นกัน โดนให้ลูกเป็นคนกำหนดโทษ อย่างไรก็ตาม สำหรับลูก ควรเลือกวิธีทำโทษที่มีประโยชน์ และทำให้ลูกเข็ดหลาบ แต่ไม่ทำให้ลูกหวาดกลัว ไม่มีการตีหรือดุจนเกินเหตุ

 4. ไม่ดุด่าเมื่อลูกพูดคำหยาบ

4 SCOLD AT KID

ไม่ควรดุด่าเมื่อลูกพูดคำหยาบ ไม่ควรใช้อารมณ์ในการต่อว่าลูก คุณแม่และคุณพ่อต้องยอมรับว่าการดุด่านั้นอาจทำให้คุณหลุดสบถ หรือพูดคำหยาบออกมา ดังนั้นมันก็ไม่มีประโยชน์อะไรทีจะสั่งสอนให้ลูกไม่พูดคำหยาบ คุณไม่จำเป็นที่จะต้องทำให้ลูกเสียใจ หรือตกอกตกใจที่เขาหยุดคำหยาบออกมา สอนให้ลูกรู้ว่าการพูดคำหยาบของลูกไม่ใช่เรื่องร้ายแรง แต่เป็นสิ่งที่คุณแม่และคุณพ่อไม่ต้องการให้ลูกทำอีกต่อไปไม่ว่าจะต่อหน้า หรือลับหลัง ควรพูดคุยกันให้เข้าใจจะดีกว่า

5. ห้ามตี

5 SPANKING

การที่ลูกของเราพูดคำหยาบ อาจทำให้คุณแม่และคุณพ่อตกใจ แต่มันไม่ใช่ความผิดร้ายแรงถึงขนาดที่เด็กๆ จะต้องโดนทำโทษด้วยการตีให้ลูกเจ็บ คุณแม่และคุณพ่อเองก็ควรระงับอารมณ์ เพราะการที่ลูกพูดคำอยาบ เป็นเพียงหนึ่งในปัญหาของการเลี้ยงดูลูกที่คุณต้องเผชิญในชีวิตของการเป็นพ่อแม่ ดังนั้นห้ามตีลูกเมื่อได้ยินว่าลูกพูดคำหยาบ หรือเมื่อคุณครูมาฟ้องว่าลูกพูดคำหยาบที่โรงเรียน ใจเย็นๆ ของแบบนี้ แก้ไขได้ค่ะ

6. สอนให้ลูกพูดคำอื่นแทนคำหยาบ

6 TALK NICELY

เพราะเด็กเล็กยังไม่รู้ว่าคำไหนคือหยาบหรือไม่หยาบ คำไหนพูดแล้วไม่สุภาพ ดังนั้นเมื่อลูกพูดคำหยาบ คุณแม่และคุณพ่อต้องชี้ให้ลูกเห็นเป็นคำๆ ไปว่าคำนี้พูดไม่ได้ และสอนลูกว่าไม่ควรใช้ หากมีคำสุภาพคำอื่นที่แทนได้ ควรสอนให้ลูกใช้คำนั้นแทน เช่น หากลูกคำว่า “ขี้” อาจสอนลูกว่าคำนี้ไม่เพราะ ไม่สุภาพ พูดแล้วไม่น่ารัก คุณแม่และคุณพ่อไม่ชอบฟัง ให้พูดคำว่า “อึ” หรือ “อุจจาระ” แทน เป็นต้น

7. อย่าหลุดหัวเราะออกมาเมื่อลูกพูดคำหยาบ

7 LAUGH

คุณแม่และคุณพ่อหลายคู่อาจรู้สึกไม่ซีเรียสอะไรเมื่อลูกพูดคำหยาบ ออกจะเอ็นดูเสียด้วยซ้ำ แต่การพูดคำหยาบในเด็กนั้นไม่ใช่เรื่องดีอย่างแน่นอน ยิ่งถ้าคุณแม่และคุณพ่อไม่อยากโดนคุณครูที่โรงเรียนเรียกพบบ่อยครั้ง ดังนั้นอย่าเผลอหัวเราะชอบใจเมื่อลูกพูดคำแปลกๆ ทหรือพูดคำหยาบออกมา ยิ่งคุณแม่และคุณพ่อ หรือคนรอบข้างหัวเราะชอบใจ ยิ่งเป็นการเสริมพฤติกรรมให้เด็กพูดอีก เพราะคิดว่าถูกต้องเหมาะสมแล้ว พูดแล้วคุณแม่และคุณพ่อชอบ

8. คำหยาบอาจมาพร้อมอารมณ์โกรธ 

8 ANGRY CHILD

บางครั้งเมื่อลูกรู้สึกโกรธ การใช้คำหยาบเป็นตัวช่วยในการระบายอารมณ์ของลูก เพราะเห็นตัวอย่างจากผู้ใหญ่หรือจากเด็กคนอื่นๆ เมื่อเวลาที่ไม่พอใจ มักสบถคำหยาบออกมา เมื่อลูกมีอารมณ์โกรธ ไม่พอใจ คุณแม่และคุณพ่อควรจะสอนให้ลูกใช้คำอื่นที่น่าฟังกว่าแทนคำหยาบ เช่น เวลาโกรธ ก็ให้พูดว่า “โกรธแล้วนะ” แทน

การที่จะให้เด็กเลิกพูดคำหยาบ ที่สำคัญที่สุดคือ การทำเป็นตัวอย่าง และการร่วมมือของคนในครอบครัว โดยเฉพาะคุณแม่-คุณพ่อ และผู้เลี้ยงดู ควรเป็นแบบอย่างในการพูดสื่อสารด้วยถ้อยคำที่สุภาพและเหมาะสม อย่างที่กล่าวไปข้างต้น กว่าลูกน้อยของคุณจะเติบใหญ่ คุณแม่และคุณพ่อจะต้องเจอะเจอกับปัญหาอีกหลายร้อยอย่างที่จะเข้ามาพิสูจน์ความอดทน ความมีสติ และการแก้ปัญหาที่ดีของคุณแม่และคุณพ่อ การที่ลูกเล็กของเราเริ่มพูดคำหยาบ หากสงสัยว่าอาจเริ่มมาจากการสื่อสารของเรา หรือคนในครอบครัว แก้ง่ายๆ คุณก็เลิกพูดคำหยาบต่อหน้าลูก หากลูกติดมาจากเพื่อนที่โรงเรียน คุณแม่และคุณพ่อก็ไปปรึกษาคุณครู ปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้ Central Inspirer เชื่อมั่นว่าด้วยความรักที่คุณแม่และคุณพ่อมีต่อลูก ไม่ว่าป็นปัญหาใด คุณจะสามารถก้าวผ่านไปได้อย่างสำเร็จ และมีความสุขแน่นอน Happy Parenting ค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก: theasianparent.com/rakluke.com

Picture credit: pinterest.com