โต๊ะสนุกเกอร์ main banner

สนุกเกอร์ พูล และบิลเลียดต่างกันอย่างไร

หลายท่านอาจเข้าใจว่าการเล่นสนุกเกอร์นั้นมีชื่อเรียกหลายชื่อ อาจจะเรียกพูลก็ได้ บิลเลียดก็ได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนั้นกีฬา สนุกเกอร์ พูล และบิลเลียด มีลักษณะการเล่นที่แตกต่างกัน การวางลูกที่แตกต่างกัน รวมไปถึงกฎกติกาที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย แต่ความนิยมและเป็นสากลมากกว่าต้องยกให้ สนุกเกอร์ เพราะมีการแข่งขันในระดับนานาชาติปีละหลายๆ ครั้งจนได้รับการสนับสนุนจากสปอนเซอร์และเป็นที่รู้จักมากกว่าพูลและบิลเลียด ในวันนี้เราจะมานำเสนอและอธิบายความแตกต่างของกีฬาชนิดนี้กัน

อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการเล่นสนุกเกอร์และบิลเลียด

1. โต๊ะสนุกเกอร์มาตรฐาน

ขนาด : 11 ฟุต 8 ½ นิ้ว x 5 ฟุต 10 นิ้ว (3596 มม. x 1778 มม.) โดยมีความคลาดเคลื่อนได้ไม่เกิน บวกลบ ½ นิ้ว

ความสูงของโต๊ะ : วัดจากพื้นห้องถึงขอบผิวของคุชชั่น จะต้องอยู่ระหว่าง 2 ฟุต 9 ½ นิ้ว – 2 ฟุต 10 ½ นิ้ว (851 มม. – 876 มม.)

หลุม : โต๊ะจะมีหลุมตามมุม 2 หลุม ทางด้าน “จุดสปอต” เรียกว่า “หลุมบน” และอีก 2 หลุมทางด้านในเมือง ซึ่งเรียกว่า “ หลุมล่าง” และมีหลุมที่กึ่งกลางด้านยาวของโต๊ะอีกข้างละ 1 หลุม ซึ่งเรียกว่า “ หลุมกลาง” ขนาดต่างๆ ของหลุมต้องเป็นไปตามที่สมาคมบิลเลียดและสนุกเกอร์อาชีพโลกเป็นผู้กำหนด 

เส้นเมืองและในเมือง : เส้นตรงซึ่งลากห่างจากขอบ และขนานดับคุชชิ่งล่าง 29 นิ้ว (737 มม.) เรียกว่า “เส้นเมือง” และเนื้อที่ซึ่งอยู่ระหว่างเส้นกับขอบคุชชิ่งล่าง เรียกว่า “ในเมือง”

ครึ่งวงกลม : ครึ่งวงกลมตัว D ซึ่งเขียนไว้ “ในเมือง” จะมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่กึ่งกลางของ “เส้นเมือง” และรัศมี 11 ½ นิ้ว (292 มม.)

จุดต่างๆ : มีการกำหนดไว้ 4 จุด โดยตั้งอยู่บนแนวกึ่งกลางของโต๊ะตามทางยาว คือ

  • จุด “สปอต” ห่างจากขอบด้านในของคุชชั่นบน 12 ¾ นิ้ว (324 มม.)
  • จุด “เซ็นเตอร์” ตั้งอยู่ที่จุดกึ่งกลางระหว่างขอบคุชชั่นบน กับขอบคุชชั่นล่าง
  • จุด “ปิรามิด” ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่าง “เซ็นเตอร์” กับขอบคุชชั่นบน
  • “จุดกลางของเส้นเมือง”

2. ลูกต่างๆ

  • ลูกต่างๆจะต้องมีเส้นผ่าศูนย์กลาง5 มม. โดยมีความคลาดเคลื่อนได้ไม่เกิน 0.05 มม. ลูกจะต้องมีน้ำหนักเท่ากัน ความคลาดเคลื่อนได้ไม่เกิน 0.5 กรัม ต่อ 1 ชุด
  • ลูกใดลูกหนึ่งหรือทั้งชุดอาจะให้เปลี่ยนได้โดยความเห็นชอบจากผู้เล่นร่วมกันหรือดุลยพินิจของผู้ตัดสิน

3. อุปกรณ์ไม้คิว

ไม้คิวที่ใช้ในการเล่นต้องมีความยาวไม่ต่ำกว่า 3 ฟุต (914 มม.) และรูปร่างลักษณะโดยทั่วไปต้องไม่ต่างจากที่นิยมใช้กันอยู่ปกติ

4. อุปกรณ์อื่นๆ

เรสต์ต่างๆ (คิวยาวเรียกว่า “Butts” หรือ “Half Butts”) ขึ้นอยู่กับความยาว ตัวต่อ และตัวปรับระยะที่อาจนำมาใช้ เมื่อผู้เล่นไม่สะดวกในการแทง โดยทั่วไปจะเป็นอุปกรณ์ที่ประจำอยู่ตามโต๊ะ

อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการเล่นพูล

1. โต๊ะพูล

ขนาด : 8 ฟุต ใช้ในการเล่นปกติทั่วไป 9 ฟุต ใช้ในการแข่งขัน
หลุม : หลุมด้านข้างจะใหญ่กว่าหลุมตรงหัวมุม และมุมด้านข้างเป็นลักษณะมุมเปิดกว่าหลุมหัวมุม

2. ลูก

ขนาดลูก 2 ¼ นิ้ว คือ ขนาดมาตรฐาน เกมส์ส่วนมากใช้ 15 ลูก

3. วิธีการวางลูก

พูลจะมีเกณฑ์หัวโต๊ะ,ท้ายโต๊ะ และมีกรอบสามเหลี่ยมไว้เซ็ทลูก สลับสีกันกับลูกลาย ส่วนลูกที่ใช้สอยจะวางอยู่ตรงไหนของโต๊ะก็ได้หลังจุดที่สอง

4. ไม้พูล

ความยาวของไม้จะอยู่ที่ 57-58 นิ้ว ขนาดปลายหัวไม้ 11-14 มิลลิเมตร

ลักษณะการเล่นที่แตกต่างกันระหว่าง สนุกเกอร์ พูล และบิลเลียด

การเล่นสนุกเกอร์นั้น จะมีลูกสีแดงทั้งหมด 15 ลูก (1 แต้ม) และลูกสีที่ประกอบด้วยเหลือง (2แต้ม) เขียว (3แต้ม) น้ำตาล (4แต้ม) น้ำเงิน (5แต้ม) ชมพู (6แต้ม) ดำ (7แต้ม) อย่างละลูก โดยผู้เล่นจะต้องแทงลูกสีขาวหรือที่เรียกว่า “คิวบอล” กระทบลูกสีแดงให้ลงหลุมก่อนจึงจะเล่นลูกสีอื่นได้ จากนั้นเมื่อลูกสีแดงหมดโต๊ะ ผู้เล่นก็จะไล่เก็บสีตามคะแนนจากน้อยไปหามาก โดยสีดำจะเป็นลูกสุดท้าย ใครเป็นผู้ทำแต้มได้มากที่สุดจะเป็นผู้ชนะในเกมนั้น โดยภาษาสนุกเกอร์เรียกว่า “เฟรม” แต้มสูงสุดของการเล่นสนุกเกอร์คือ 147 คะแนน หรือเรียกว่า “แม๊กซิมัม เบรก”

การเล่นบิลเลียดหรือแคม บิลเลียด ใช้บอลเพียงแค่ 3 ลูก ได้แก่ ขาว แดง เหลือง การเล่นบิลเลียดจะต่างจากการเล่นสนุกเกอร์ตรงที่สนุกเกอร์แทงลงจะได้แต้ม แต่บิลเลียดจะมีการทำคะแนนได้หลายอย่าง เช่นการแทงลูกขาวให้กระทบกับ 2 ลูกที่เหลือหรือที่เรียกว่าแคนนอลได้ 2 แต้ม ตบเหลืองลงได้ 2 แต้ม ตบแดงหรือเช็ดแดงเปลี่ยนขาวลงหลุมได้ 3 แต้ม แทงพลาดเสีย 1 แต้ม โดยไม่ลดแต้มผู้แทงแต่ไปเพิ่มแต้มให้คู่ต่อสู้แทน แทงพลาดและคิวบอล(ลูกสีขาว)ลงหลุมเสีย 3 แต้ม ทั้งนี้ใครได้แต้มถึงตามที่กำหนดถือว่าเป็นฝ่ายที่ชนะ

ส่วนการเล่นพูล หรือพอกเก็ต บิลเลียดจะแตกต่างจากการเล่นสนุกเกอร์ตรงที่ การเล่นพูลมีอยู่หลายแบบด้วยกัน ได้แก่ พูล 8 ลูกและแบบ 15 ลูก สำหรับพูลแบบ 8 ลูกนั้น จะประกอบด้วยลูกขาวและลูกเป้า 15 ลูก ที่มีหมายเลขกำกับ 1-15 โดยกติกามีอยู่ว่าผู้เล่นฝ่ายหนึ่งจะต้องตบลูกในกลุ่มหมายเลข 1 ถึง 7 ซึ่งเป็นลูกสี (Solid colors) ขณะที่ผู้เล่นอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องตบลูกในกลุ่มหมายเลข 9-15 ซึ่งเป็นลูกลาย (Stripes) ผู้เล่นในแต่ละฝ่ายจะต้องตบลูกในกลุ่มของตัวเองให้หมดก่อน จึงจะมีสิทธิ์ตบลูกหมายเลข 8 (ลูก 8) เพื่อเป็นผู้ชนะในเฟรมนั้น อย่างไรก็ตามผู้เล่นมีสิทธิ์เป็นผู้แพ้ทันทีหากว่าพลาดทำลูก 8 ลงหลุมในขณะเล่นลูกระบุไว้หรือขณะที่ไม่ใช่ลูกในเที่ยวแทง

กีฬาสนุกเกอร์ พูลและบิลเลียด ถ้ามองผ่านๆมีหลายๆอย่างเหมือนกัน เช่น โต๊ะสนุกเกอร์ อุปกรณ์ไม้คิว และอุปกรณ์ต่างๆ แต่ที่ต่างกันก็คือ ขนาดของโต๊ะ การวางลูกในจุดต่างๆ วิธีการเล่นและการนับแต้ม การเล่นสนุกเกอร์ต้องมีความแม่นยำมากกว่า ด้วยขนาดโต๊ะที่ใหญ่และหลุมที่มีขนาดเล็กและแคบมากกว่าพูล ผู้ที่เล่นสนุกเกอร์ชำนาญจะกลายเป็นผู้ที่มีฝีมือทันทีในเรื่องของความแมนยำเมื่อมาเล่นพูล สนุกเกอร์เป็นกีฬาที่เล่นกันมากในแคนนาดา อังกฤษ ยุโรป ตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย และอินเดีย