ตากุ้งยิงเกิดจากอะไร พร้อมวิธีป้องกันและรักษาที่ถูกต้อง

เคยมั๊ยคะตื่นเช้ามา รู้สึกปวดตุ่ยๆ บริเวณเปลือกตา มีตุ่มแดงบวมขึ้นมา แล้วตุ่มบวมแดงนั้นก็ค่อยๆ โตขึ้น มีอาการเป็นหนอง ไม่อยากออกไปไหนให้คนสังเกตเห็น นั้นแหล่ะค่ะ อาการของตากุ้งยิง คุณเองก็ไม่ได้ไปแอบส่องดูใครมา แล้วอาการตาอักเสบแบบตากุ้งยิงนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร สาเหตุมาจากไหน ความเชื่อเกี่ยวกับอาการตากุ้งยิง วิธีป้องกัน และการรักษาต้องทำอย่างไรบ้าง มาดูกันเลยค่ะ

“ตากุ้งยิง” คืออะไร 

STYE

ตากุ้งยิง หรือ Stye เป็นการอักเสบของต่อมไขมันที่บริเวณเปลือกตา เป็นโรคที่พบได้บ่อยโดยเกิดจากฝุ่น หรือสิ่งสกปรกเข้าไปอุดตันในรูขุมขน หรือในบางกรณี อาจเกิดขึ้นจากต่อมไขมันในรูขุมขนเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้มีอาการนูนบวมแดงขึ้นมาบริเวณเปลือกตา สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งด้านนอกและด้านในเปลือกตา ตากุ้งยิงแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ 

1. ตากุ้งยิงแบบติดเชื้อ หรือ Hordeolum 

เป็นตากุ้งยิงที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus Aureus บริเวณต่อมไขมันที่อยู่ในรูขุมขนบนเปลือกตา ทำให้เปลือกตาบวมแดง และรู้สึกเจ็บ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ

  • External Hordeolum หรือ ตากุ้งยิงชนิดหัวผุด

เป็นการอักเสบของต่อมเหงื่อ (Gland of Moll) บริเวณผิวหนังตรงโคนขนตา จะมีลักษณะเป็นหัวฝีผุดให้เห็นชัดเจนบริเวณขอบตา มักจะมีขนาดไม่ใหญ่และหัวฝีจะชี้ออกด้านนอก

  • Internal Hordeolum หรือ ตากุ้งยิงภายใน 

เป็นการอักเสบของต่อมไขมัน หรือ Meibomian Gland บริเวณเยื่อบุเปลือกตาที่เป็นเยื่อเมือกอ่อนสีชมพู ซึ่งจะมองเห็นได้เวลาปลิ้นเปลือกตา โดยหัวฝีนั้นจะหลบซ่อนอยู่ด้านในของเปลือกตา มักมีขนาดใหญ่กว่าชนิดแรก และหัวฝีจะชี้เข้าด้านใน แต่ในบางครั้งการอักเสบของต่อมไขมันบริเวณเยื่อเปลือกตาอาจเกิดการอุดตันของรูเปิดเล็กๆ ทำให้มีเนื้อเยื่อรวมตัวกันอยู่ภายในต่อม จนกลายเป็นตุ่มนูนแข็งเรียกว่า ตาเป็นซิสต์ ซึ่งจะไม่รู้สึกเจ็บปวดอะไร หรือบางครั้งอาจมีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปจนทำให้เกิดการอักเสบ คล้ายกับการเป็นกุ้งยิงชนิดหัวหลบในได้ และเมื่อหายอักเสบแล้ว ตุ่มซิสต์ก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม

2. ตากุ้งยิงแบบไม่ติดเชื้อ หรือ Chalazion

เป็นการอักเสบของต่อมโคนขนตาที่ไม่มีอาการติดเชื้อ หรือ Non-Infectious เกิดจากการมีฝุ่น หรือสิ่งสกปรกเข้าไปอุดตันในรูขุมขนบริเวณเปลือกตา หรือขนตา สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเปลือกตาบนและเปลือกตาล่าง ทำให้ไขมันที่ถูกผลิตขึ้นมนจากต่อมไขมันที่เปลือกตา หรือ Meibomian Gland ไม่สามารถระบายออกมาได้ ดังนั้นบริเวณที่เกิดตากุ้งยิงประเภทนี้จะมีอาการบวมแดง แต่ไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ 

ความเชื่อเกี่ยวกับตากุ้งยิง

มีความเชื่อมาแต่โบราณว่า คนเป็นตากุ้งยิงเพราะแอบไปดูคนอาบน้ำ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริง จึงกลายเป็นความเชื่อโบราณที่มีผู้คนเชื่อกันมากจนถึงปัจจุบันเลยทีเดียว เพราะการแอบดูคนอาบน้ำของคนสมัยก่อนนั้น มักจะปฏิบัติการแอบดูที่ห้องน้ำแบบเก่า ที่เป็นข้างฝาไม้บ้าง เป็นสังกะสีบ้าง มีร่องมีรูต่างๆ คนที่จะแอบดูก็ต้องมองลอดช่องเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยฝุ่นและเชื้อโรค ตลอดจนความสกปรกหมักหมมทั้งหลายทั้งปวง ใครที่แนบดวงตาของตัวเองลงบนช่องพวกนี้ ก็จะได้รับสิ่งสกปรกมาติดอยู่ที่บริเวณเปลือกตา และเชื้อโรคเหล่านี้เองที่เป็นสาเหตุของอาการตากุ้งยิง อีกประเด็นหนึ่งคือ คนที่ไปแอบดูคนอาบน้ำ มักต้องกระทำในเวลากลางคืน เพื่อป้องกันคนเห็นและถูกจับได้ การปฏิบัติการตอนกลางคืนนี่แหละที่ทำให้เกิดการอดหลับอดนอน และการอดหลับอดนอนก็ทำให้ความต้านทานเชื้อโรคของร่างกายต่ำ โอกาสจะเกิดตากุ้งยิงจึงมีมากกว่าคนทั่วไป นั่นจึงเป็นสาเหตุ และที่มาของความเชื่อที่ว่าตากุ้งยิงเกิดจากการไปแอบดูคนอาบน้ำนั่นเอง

สาเหตุของตากุ้งยิง

อาการของตากุ้งยิงส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟีโลค็อกคัส (Staphylococcus) โดยการอักเสบมักเริ่มจากท่อทางออกของสารต่างๆ จากต่อมบริเวณหนังตาเกิดการอุดตัน ส่งผลให้มีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปอุดตันในต่อมเป็นจำนวนมาก เกินกว่าที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะกำจัดได้ ก่อให้เกิดการอักเสบของต่อมดังกล่าว ตามมาด้วยการอักเสบบวมเป็นก้อนนูน มีหนองสะสม ก่อให้เห็นเป็นตุ่มฝี ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการมีฝุ่น หรือเชื้อโรคเข้าตาก่อน แล้วเผลอใช้มือที่ไม่สะอาดขยี้ตา จนทำให้ต่อมที่เปลือกตาอุดตัน และเกิดการอักเสบตามมา นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสริมอื่นๆ ที่ทำให้เป็นตากุ้งยิงได้ง่าย เช่น

1. ไม่รักษาความสะอาด

การไม่รักษาความสะอาด เช่น ปล่อยให้มือ ใบหน้า ผิวหนัง หรือเสื้อผ้ามีความสกปรก โรคตากุ้งยิงมักพบในคนที่ไม่รักษาความสะอาดใบหน้า ใช้เครื่องสำอางที่ใบหน้าและดวงตา แล้วไม่ล้างออก ใส่คอนแทคเลนส์ร่วมกับผู้อื่น ใส่หรือถอดคอนแทคเลนส์ด้วยมือที่ไม่สะอาด หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สกปรก ทั้งยังชอบขยี้ตา จึงเกิดอาการของตากุ้งยิงขึ้นได้ง่าย

2. ผู้ที่มีโรคผิวหนังบริเวณใบหน้า

ตากุ้งยิงมักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีผิวหน้ามัน ทำให้เกิดการอุดตันของต่อมไขมันบริเวณใบหน้ารวมทั้งหนังตาได้สูงกว่าปกติ

3. มีความผิดปกติเกี่ยวกับสายตา

ตากุ้งยิงอาจเกิดขึ้นได้กับผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับสายตา เช่น มีสายตาสั้น สายตายาว สายตาเข สายตาเอียง รวมถึงมีการอักเสบบริเวณหนังตาอยู่บ่อยๆ

4. สุขภาพไม่ดี

ผู้ที่มีสุขภาพไม่ดี มีอาการป่วย เช่น เป็นโรคเรื้อรัง ไซนัสอักเสบ ขาดอาหาร อดนอน ฟันผุ สามารถเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคตากุ้งยิงได้

5. มีภาวะที่ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย

โรคตากุ้งอาจเกิดขึ้นกับผู้ที่มีภาวะติดเชื้อง่าย เช่น ผู้เป็นโรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคพิษสุราเรื้อรัง ทานยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน หรือผู้ที่มีหนังตาอักเสบเรื้อรัง โรคตากุ้งยิงยังพบมากในช่วงวัยรุ่นถึงวัยผู้ใหญ่ แต่จะพบได้น้อยในผู้สูงอายุ หากพบอาการกุ้งยิงในผู้สูงอายุ อาจจำเป็นต้องพาไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย ซึ่งอาจเป็นอาการบ่งบอกถึงโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง หรือโรคต่างๆ ที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลง

วิธีป้องกันตากุ้งยิง

1. รักษาความสะอาด

1 SHOWER

หมั่นรักษาความสะอาด และสุขอนามัยของร่างกายและเสื้อผ้าอยู่เสมอ โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ขนตา ขอบตา และมือทั้งสองข้าง ควรระวังอย่าให้เส้นผมแยงตา รวมถึงสระและทำความสะอาดเส้นผมบ่อยๆ ด้วยแชมพูที่เหมาะกับสภาพผมและหนังศีรษะของคุณ

2. ล้างเปลือกตาวันละ 1 ครั้ง

2 WASH

หากคุณเป็นคนมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อได้ง่าย ควรล้างเปลือกตาวันละ 1 ครั้ง เพื่อรักษาความสะอาดของรูขุมขน หรือประคบอุ่นที่เปลือกตาทุกๆ 2 วัน เพื่อป้องกันการอุดตันของต่อมไขมันบริเวณเปลือกตา

3. ทำความสะอาดผิวหน้าและรอบดวงตา

3 WASH FACE

หากคุณเป็นคนใช้เครื่องสำอางตลอดเวลา ควรเช็ดทำความสะอาดบริเวณดวงตา และขอบตาอย่างเคร่งครัดก่อนนอนทุกคืน ที่สำคัญต้องไม่ใช้เครื่องสำอางร่วมกับผู้อื่น 

4. เลิกนิสัยชอบขยี้ตา

4 RUB

หลายคนชอบขยี้ตาแบบไม่รู้ตัวจนเป็นนิสัย ต้องเตือนตัวเองไม่ให้ขยี้ตาบ่อยๆ หากมีอาการคันตา ควรใช้ผ้าเช็ดหน้าที่สะอาดเช็ดตาแทนการขยี้ตา

5. หลีกเลี่ยงการถูกฝุ่น ลม แสงแดด และควันบุหรี่

5 SUNGLASSES

ฝุ่น ลม แสงแดด และควันบุหรี่ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคตากุ้งยิง หากมีความจำเป็นต้องออกแดด อยู่กลางแจ้ง ควรใช้แว่นกันแดด หรือหมวกช่วยบดบังฝุ่น และแสงแดด รวมทั้งหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีฝุ่นละอองที่สกปรก จะช่วยทำให้เชื้อโรคมาสัมผัสบริเวณดวงตาได้น้อยลง

6. ใช้สายตาให้พอดีกับความสามารถ

6 EYESIGHT

อย่าฝืนใช้สายตามากหรือนานจนเกินไป เพราะจะทำให้ปวดกระบอกตา ตาเมื่อยล้า และแสบเคืองตาได้ ซึ่งจะเป็นผลทำให้ภูมิคุ้มกันลดน้อยลง ก่อให้เกิดโอกาสที่ดวงตามีอาการไวต่อการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น

7. รักษาสุภาพ

7 RUNNING

ควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อดหลับอดนอน เพราะร่างกายที่แข็งแรงจะเป็นด่านป้องกันการติดเชื้อได้ดี ทำให้มีโอกาสเกิดตากุ้งยิงได้น้อยลง

8. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พร้อมรับวิตามินเพียงพอ

8 EAT HEALTHY

รับประทานอาหารที่มีสารเบต้าแคโรทีนสูงๆ เช่น ไข่แดง เครื่องใน เนย และผักผลไม้สีเหลือง ส้ม แดง สีเขียวเข้ม หรืออาจรับประทานวิตามินเอ และวิตามินซีเสริมเพื่อช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกายร่วมด้วย

9. ควบคุมโรคประจำตัว

Blood pressure tells a lot about your health

หากมีโรคประจำตัว หรือโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไซนัสอักเสบ ฟันผุ ควรควบคุมอาการของโรคโดยพบแพทย์อยู่เสมอ เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อตากุ้งยิงให้ดียิ่งขึ้น 

10. งดใช้เครื่องสำอางบริเวณดวงตา

10 NO MAKEUP

ผู้ที่มีประวัติเป็นตากุ้งยิงบ่อย ควรงดการใช้เครื่องสำอางบริเวณดวงตา และขอบตา หมั่นทำความสะอาดบริเวณโคนขนตา ด้วยการใช้สำลีชุบน้ำสะอาด เช็ดขอบตาจากหัวตาไปหางตา พร้อมหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น หากยังเป็นตากุ้งยิงอยู่ ควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาถึงสาเหตุและวิธีป้องกัน 

11. รักษาตากุ้งยิงทันทีเมื่อเริ่มมีอาการ

11 TREATMENT

หากคุณเริ่มมีอาการของตากุ้งยิง ควรเริ่มรักษาทันทีเมื่อเริ่มขึ้นเป็นตุ่มใหม่ๆ ด้วยการประคบด้วยน้ำอุ่นจัดๆ และใช้ยาปฏิชีวนะชนิดป้ายหรือยาหยอดตา เพราะหากปล่อยทิ้งไว้นานๆ จนกลัดหนอง การรักษาด้วยวิธีดังกล่าวอาจจะไม่ได้ผล อาจต้องให้แพทย์ใช้วิธีสะกิด หรือผ่าเพื่อระบายเอาหนองออก

การรักษาอาการตากุ้งยิง

หากคุณมีอาการของตากุ้งยิงในระยะแรก สามารถรักษาเองได้ง่ายๆ ที่บ้านดังนี้

  • นำผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่น บิดหมาด แล้วนำมาประคบบริเวณที่เป็นตากุ้งยิง ทิ้งไว้ 10-15 นาที ทำแบบนี้วันละ 3-5 ครั้ง การใช้น้ำอุ่นประคบ จะทำให้รูที่บริเวณเปลือกตาขยายออก ลดการอุดตัน ลดอาการบวม และอาการเจ็บเปลือกตาได้
  • หากมีหนองบริเวณเปือกตาด้านนอก ให้ใช้ยาหยอดตา หรือใช้ขี้ผึ้งป้ายตา
  • ในกรณีที่มีหลองอยู่บริเวณเปลือกตาด้านใน และอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน ควรไปพบแพทย์เพื่อสะกิด หรือเจาะเอาหนองออก

ตากุ้งยิงอาจไม่ใช่โรคร้ายแรง หรือเป็นเรื่องใหญ่ ส่วนมากเกิตจากการไม่รักษาความสะอาด หากไม่อยากเกิดอาการตากุ้งยิง ไม่อยากเจ็บ รำคาญ หรือไม่อยากอายเวลาไปจ้องหน้ากับใคร แนะนำให้รักษาความสะอาดบ่อยๆ และไม่ใช้มือที่สะอาด หรือไม่สะอาดไปขยี้ตา หรือจับต้องใบหน้าบ่อยๆ โรคตากุ้งยิง และปัญหาผิวหน้าจะได้ไม่เกิดขึ้นกับคุณค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก: .eyestesting.com / doctorraksa.com / medthai.com

Picture credit: pinterest.com / spamedica.com / completeeyecare.net