10 เช็กลิสต์ที่จะทำให้คุณรู้ว่าเป็น “โรคกลัวความรัก” หรือไม่ ฉบับเข้าใจง่ายมาก

ความรักเป็นสิ่งที่ทุกคนถวิลหา เป็นสิ่งที่ทำให้โลกใบนี้สดใส ทำให้ทั้งชายและหญิงมองโลกเป็นสีชมพู ความรักเป็นพลังที่ช่วยให้เราขับเคลื่อน ให้เราใช้ชีวิตอย่างเต็มไปด้วยความสุขในทุกวัน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโชคกับความรัก หลายคนอาจโชคร้าย กี่ครั้งต่อกี่ครั้งที่ไม่เคยสมหวังในความรัก จนรู้สึกเข็ดขยาดกับความรัก และมีคนอีกมากมายตั้งตารอคอยความรักให้เกิดกับตัวเอง ความรักเข้ามาในชีวิตของเราในหลากหลายรูปแบบ แต่สำหรับคนที่เข็ดขยาดกับความรัก หรือกลัวที่จะมีความรัก คุณทราบหรือไม่ว่าคุณอาจกำลังมีอาการของ “โรคกลัวความรัก” 

วันนี้ Central Inspirer ชวนคุณๆ ที่ไม่มั่นใจในความรัก มีอาการผิดปกติมาทำความรู้จักว่าโรคกลัวความรักคืออะไร เกิดจากสาเหตุใด อาการเป็นอย่างไร พร้อมลองมาเช็คตัวเอง มาทำเช็คลิสต์ดูกันว่าตัวคุณเป็นโรคกลัวความรักหรือไม่ หากเป็นแล้วจะรักษาอย่างไร และควรดูแลตัวเองอย่าไรหากเป็นโรคกลัวความรัก มาดูกันเลยค่ะ

“โรคกลัวความรัก” คืออะไร

PHILOPHOBIA

โรคกลัวความรัก หรือ Philophobia  มาจากคำในภาษากรีกว่า “Philos” ซึ่งหมายถึงความรัก และ “Phobos” ซึ่งหมายถึงความกลัว จัดเป็นโรคกลัวแบบเฉพาะ หรือ Phobia ชนิดหนึ่ง แต่ไม่ถือเป็นโรคทางการแพทย์ ผู้ป่วยจะรู้สึกกลัวการมีความรัก กลัวการตกหลุมรัก กลัวที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ กลัวความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับผู้อื่นจนไม่กล้าเริ่มต้น หรือวิตกกังวลว่าจะไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์นั้นๆ ได้ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกโดดเดี่ยวหรือไม่รู้สึกอยากจะมีรัก โดยอาการจะเกิดขึ้นแบบไม่มีเหตุผลและไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ หากปล่อยไว้อาจรุนแรงถึงขั้นส่งผลต่อการใช้ชีวิต ซึ่งความกลัวที่เกิดขึ้นอาจส่งผลให้บางคนมีอาการทางร่างกาย เช่น ตื่นกลัว มีเหงื่อออก หัวใจเต้นเร็ว หายใจลำบาก คลื่นไส้ เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตและเสี่ยงทำให้ผู้ป่วยแยกตัวออกจากสังคมได้

โรคกลัวความรักเกิดจากสาเหตุใด

โรคกลัวความรัก เกิดจากสาเหตุหลายประการ รวมถึงปัจจัยด้านพันธุกรรม ได้แก่

1. เหตุการณ์ที่เป็นแง่ลบและทำให้ฝังใจมาตั้งแต่ในอดีต

1 NEGATIVE FEELING

ผู้ป่วยโรคกลัวความรักอาจเคยผ่านประสบการณ์ที่สะเทือนจิตใจ หรือความสัมพันธ์ที่ล้มเหลวมาก่อน เช่น ถูกนอกใจ ถูกหลอก หรือถูกหักอก ทำให้ไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความสัมพันธ์แบบนั้นอีก ในบางรายอาจเคยเผชิญกับเหตุการณ์รุนแรงต่างๆ ในครอบครัว หรือเติบโตมาในครอบครัวที่มีปัญหาหย่าร้าง การใช้ความรุนแรงในครอบครัว หรือเห็นบุคคลรอบข้างผิดหวังกับความรัก

2. วัฒนธรรม ประเพณี และศาสนา

2 RELIGION

ในบางครั้งผู้ที่มีอาการของโรคกลัวความรักอาจมีสาเหตุมาจากข้อห้ามทางวัฒนธรรม ประเพณี หรือศาสนาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความรักอย่างเข้มงวด เช่น กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการแสดงความรักระหว่างชายและหญิง หรือเพศทางเลือกอื่นๆ การบังคับแต่งงานตั้งแต่ยังเด็กในบางพื้นที่ ซึ่งในกรณีนี้จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกกลัวแบบฝังรากลึก เข็ดขยาดกับการมีความรัก ไม่กล้ามีความรักใดๆ อีกต่อไป

3. ไม่เห็นคุณค่าของตนเองหรือกลัวการถูกปฏิเสธ

3 DEPRESSED

หลายคนที่เป็นโรคกลัวความรักมักประเมินคุณค่าของตนเองต่ำ ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง คิดว่าตนเองไม่มีค่า ไม่สวย ไม่หล่อ รูปร่างหน้าตาไม่ดี หรือไม่ดีพอ ไม่คู่ควรที่จะให้ใครมารัก จึงมักกลัวการถูกปฏิเสธ และเลือกที่จะปิดกั้นตนเองจากผู้อื่น

อาการของโรคกลัวความรัก

ผู้ที่มีภาวะกลัวความรัก หรือโรคกลัวความรักอาจแสดงอาการแตกต่างกันไปในแต่ละราย โดยอาการจะเกิดขึ้นแบบไม่มีสาเหตุ อาจมีความกังวลเกินกว่าเหตุ หากมีอาการรุนแรงมักกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน โดยอาการของโรคกลัวความรักสามารถแบ่งออกได้ดังนี้  

  • อาการทางกาย

ผู้ป่วยเป็นโรคกลัวความรักมักจะมีอาการแสดงออกทางกาย เช่น มีอาการสั่นกลัว ร้องไห้ วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หายใจหอบถี่ เหงื่อออกมาก กระสับกระส่าย ชาปลายมือปลายเท้า ไปจนถึงเป็นลม

  • อาการทางจิตใจ 

สำหรับอาการทางจิตของผู้ป่วยโรคกลัวความรักจะแสดงอาการต่างๆ เช่น ไม่ไว้วางใจใคร รู้สึกกังวลเมื่อเริ่มต้นความสัมพันธ์ มักตีตัวออกห่าง พยายามห้ามใจตนเองไม่ให้ถลำลึกลงไปในความสัมพันธ์ พยายามจบความสัมพันธ์นั้นๆ ชอบเก็บตัวสันโดษ สบายใจเมื่อทำอะไรคนเดียว และมักหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคู่รักเยอะๆ เช่น โรงภาพยนตร์ สวนสาธารณะ หรือในร้านกาแฟที่คู่รักชอบไป

10 เช็กลิสต์สำรวจดูว่าคุณมีอากาของผู้ป่วยโรคกลัวความรักหรือไม่

หากคุณไม่มั่นใจว่าตัวเองมีอาการป่วยโรคกลัวความรักหรือไม่ เพราะจากชีวิตที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จในความรัก และไม่อยากมีความรักใหม่อีกต่อไป หรือไม่เคยมีความรักเลย แต่ก็ไม่อยากลองมีความรัก เพราะกลัวการเริ่มต้น หรือความผิดหวัง ลองมาทำเช็กลิสต์ดูว่าคุณเป็นโรคกลัวความรักหรือไม่

มีอาการหวาดกลัว หรือ Phobia กลัวแบบไม่มีเหตุผลกับเรื่องของความรัก ไม่ว่าจะเป็นการ ร้องไห้ คลื่นไส้ อาเจียน      หายใจหอบถี่ เหงื่อออกมาก กระสับกระส่าย ชาปลายมือปลายเท้า มีอาการคล้ายจะเป็นลม

หากผิวหวังกับความรัก คุณไม่สามารถมูฟออน หรือก้าวต่อไปได้ รู้สึกฝังใจกับความรักในอดีต ไม่ไว้ใจใครง่ายๆ

กังวลเมื่อต้องเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่กับใครซักคน

เมื่อมีคนเข้ามาใหม่ในชีวิต หรือทำท่าอยากจีบ คุณจะปฏิเสธ และหนีหายไม่ยอมพบหน้าอีก

หนีความรู้สึกของตัวเอง เก็บความรู้สึกไว้ ไม่อยากแบ่งปันความรู้สึกนั้นๆ กับคนอื่น

เก็บเนื้อเก็บตัว ชอบทำอะไรด้วยตัวคนเดียวมากกว่า

หลีกเลี่ยงสถานที่ที่ต้องเจอคู่รักเยอะๆ ไม่ชอบเห็นคนเป็นคู่รักจู๋จี๋ หรือแสดงควารักต่อกัน

คิดว่าตัวเองด้อยค่า ไม่สมควรได้รับความรักจากผู้อื่น

สนุกกับความสัมพันธ์ทางกาย แต่กลัวที่จะผูกมัดทางใจ

กลัวการถูกปฏิเสธ กลัวการอกหัก เลิกรา หรือหย่าร้าง

ลองทำเช็กลิสต์ด้านบน แล้วมาดูกันว่าคุณมีอาการของโรคกลัวความรักหรือไม่

  • หากได้คำตอบว่า ‘ใช่’ 1 -3 ข้อ จากเช็กลิสต์นี้ แปลว่าคุณก็ไม่ได้มีความผิดปกติสักเท่าไหร่ แต่มีความเป็นไปได้ที่คุณอาจมีอาการเพิ่มขึ้น หากไม่ลองเปลี่ยนแปลงความคิด และทัศนะคติเกี่ยวกับความรักตั้งแต่เดี่ยวนี้
  • หากได้คำตอบว่า ‘ใช่’ 4-6 ข้อ จาก 10 เช็กลิสต์นี้ ท่าทางคุณจะมีอาการของโรคกลัวความรัก แต่ก็ยังไม่ถึงขนาด Full-Blown หรือมีอาการเต็มที่ แนะนำให้คุณปรับเปลี่ยนความคิด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือทัศนะคติ เปิดตัวพูดคุย และปรึกษาเพื่อนบ้าง หรือหากเอาไม่อยู่ แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญค่ะ
  • หากได้คำตอบว่า ‘ใช่’ เกิน 7 ข้อขึ้นไป หรือครบทั้ง 10 ข้อจากเช็กลิสต์นี้ แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญโดยด่วน อย่าปล่อยทิ้งไว้ อาการแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น โรคซึมเศร้า และภาวะทางจิตอื่นๆ จะถามหา ที่สำคัญคุณต้องยอมรับตัวเองว่ามีอาการของโรค และพร้อมรับการรักษาจะดีกว่าปล่อยให้ตัวเองกลัวความรักนะคะ

การรักษาโรคกลัวความรัก

การไปปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรักษาโรคกลัวความรักไม่ใช่เรื่องตลก ไม่น่าอาย หรือเป็นเรื่องแปลก เป็นอาการที่ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะนอกจากคุณจะไม่มีความสุขกับการใช้ชีวิตแล้ว หากคุณมีอาการแบบเรื้อรังหรือไม่ได้รับการรักษาอย่าจริงจัง คุณอาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอื่นๆ เช่น โรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวลได้ คุณจะกลายเป็นคนกลัวการเข้าสังคม รวมทั้งมีแนวโน้มที่จะใช้สารเสพติดและอาจมีความคิดฆ่าตัวตายได้

อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคกลัวความรักมีอยู่อยู่หลากหลายวิธี โดยแพทย์จะให้การรักษาตามระดับความรุนแรงของอาการ ซึ่งวิธีรักษาที่อาจนำมาใช้ดังนี้

1. กระบวนการลดความวิตกกังวลอย่างมีระบบ (Systematic Desensitization Therapy)

A Systematic Desensitization Therapy

หลักการของการบำบัดด้วยวิธีนี้ คือ การให้ผู้ป่วยเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว โดยแพทย์จะจัดสถานการณ์ให้ผู้ป่วยสร้างความสัมพันธ์กับเพศตรงข้าม เช่น การพูดคุย การทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีภูมิต้านทานต่อความกลัวของตนมากขึ้น

2. การบำบัดพฤติกรรมทางความคิด (Cognitive Behavioral Therapy: CBT)

B Cognitive Behavioral Therapy

เป็นวิธีรักษาโรคกลัวความรักที่มุ่งเน้นการปรับทัศนคติ คลายปมปัญหาความกลัวควาามรัก ปรับเปลี่ยนมุมมองด้านความรัก เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสังเกตเห็นรูปแบบความคิดและนิสัยที่ทำให้ผู้ป่วยกลัวที่จะมีความสัมพันธ์ และสร้างทัศนคติเชิงบวกให้ผู้ป่วยมีมุมมองต่อความรักที่ดีขึ้น

3. การบำบัดด้วยการเคลื่อนไหวสายตา (Eye Movement Desensitization and Reprocessing: EMDR)

C EMDR THERAPY

เป็นวิธีบำบัดผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านบาดแผลทางใจ ผ่านเหตุการณ์สะเทือนขวัญ หรือความทรงจำที่เจ็บปวดเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยคลี่คลายผลกระทบจากเรื่องในอดีตด้วยกระบวนการเชื่อมโยงการทำงานของสมองส่วนต่างๆ

4. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต 

D MEDITATION

การทำกิจกรรมเพื่อคลายเครียดต่างๆ เช่น การออกกำลังกาย หรือการเล่นกีฬา การนั่งสมาธิ การฝึกหายใจ การดูหนังฟังเพลง การทำงานอดิเรก การท่องเที่ยว หรือการพูดคุยพบปะเพื่อนฝูง กิจกรรมสันทนาการต่างๆ อาจช่วยให้ผู้มีการการของโณคกลัวความรักรู้สึกผ่อนคลายและสบายใจยิ่งขึ้น 

5. การใช้ยา 

E MEDICINE

หากผู้ป่วยมีความผิดปกติทางจิตชนิดอื่นๆ ร่วมด้วย แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาต้านซึมเศร้าหรือยาคลายความวิตกกังวลควบคู่ไปกับการบำบัดด้วยการพูดคุย

ควรดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคกลัวความรัก

เมื่อสำรวจตัวเองแล้วพบว่ามีอาการของโรคกลัวความรัก มีหลากหลายสิ่งที่คุณควรและไม่ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้ 

สิ่งที่ควรปฏิบัติ :

  • ทำความเข้าใจกับความกลัวความรักว่ามีสาเหตุมาจากสิ่งใดหรือเป็นเพราะเหตุการณ์ใด
  • พยายามทำความเข้าใจว่าความรักเป็นเรื่องธรรมชาติ 
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่าคิดมาก และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • เปิดใจลองทำกิจกรรมใหม่ๆ เช่น การออกกำลังกาย การเล่นโยคะ นั่งสมาธิ ทำขนม เล่นดนตรี หรือปลูกต้นไม้ เป็นต้น
  • ขอความช่วยเหลือ หรือขอคำปรึกษาจากจิตแพทย์หรือผู้เชียวชาญ หากรู้สึกว่าตนเองรับมือกับความกลัวความรักไม่ไหว

สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ :

  • หยุดคิด และหลีกเลี่ยงความคิดในแง่ลบเกี่ยวกับความรักหรือความสัมพันธ์
  • พยายามอย่าอยู่คนเดียว เลิกเก็บตัว หรือตีตัวออกห่างจากสังคมและผองเพื่อน
  • งดการใช้บุหรี่ สุรา หรือสารเสพติดเพื่อดับความทุกข์จากความกลัวความรัก

เราลองมาถามตัวเราเองกันดูนะคะว่า ที่ปล่อยตัวอยู่เป็นโสดมาถึงทุกวันนี้ เป็นเพราะเราเข็ดขยาดกับความรัก เคยผิดหวังกับความรัก ยังไม่เคยสัมผัสความรักที่แท้จริง หรือไม่เคยสนใจที่จะมีความรัก ว่างๆ ลองมานั่งคิดและทำเช็คลิสต์ที่ให้มา หากพบว่าที่วันนี้ยังไม่มีความรัก เป็นเพราะเราเป็นโรคกลัวความรัก คุณควรเริ่มปลดปล่อยตัวเอง หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือจิตแพทย์ เพราะความรักนั้นเป็นสิ่งสวยงาม ถึงแม้ว่าบางครั้งมันอาจไม่ได้มีรสชาติหวานอยู่ตลอด อาจมีรสเผ็ด รสเปรี้ยว ที่เราเสพแล้วมีอาการเจ็บบ้าง มันก็เป็นรสชาติแห่งชีวิต อย่าขยาดกับความรัก แต่เริ่มต้นที่รักตัวเองก่อน ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร เมื่อถึงจุดหนึ่งในชีวิต ความรักจะเวียนมาหา อย่าไปกลัวกับความรักนะคะ มีความสุข สดชื่น และสมหวัง Be Strong ไม่ต้องกลัวความรักค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก: pobpad.com/wongnai.com/doctorraksa.com

Picture credit: pinterest.com/thirdhour.org