Everything-you-need-to-know-in-winter-about-Pneumonia

ฤดูหนาวนี้รู้ให้ทัน “โรคปอดบวม”

ฤดูหน้าหนาวปีนี้ อากาศเย็นสบายสมใจไปทั่วประเทศ แม้แต่ในกรุงเทพฯ ที่ทุกปีอากาศจะไม่ค่อยหนาว แต่ปีนี้อากาศดีจนทำให้คนไทยได้ต้อนรับเทศกาลวันปีใหม่อย่างสุขใจ ชื่นมื่นกันไปทุกคน นี่ยังไม่นับอากาศหนาวจัดในภาคเหนือและภาคอิสานที่ทำให้คนไทยแห่กันไปรับลมหนาว ไปสูดโอโซนบริสุทธิ์ ไปชมหมอกยามเช้า และไปดูแสงแรกรับปีใหม่ รับชีวิตใหม่ในปี 2566

ความหนาวเย็นของอากาศยังนำพามาซึ่งปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะอาการของโรคปอดบวม หลายคนอดสนุกกับอากาศดีๆ รับปีใหม่เพราะมีอากาศเจ็บป่วยจากอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเป็นปอดบวม ด้วยความห่วงใยของ Central Inspirer วันนี้จึงอยากชวนทุกคนมารู้ทันอาการปอดบวมในฤดูหนาวนี้ว่ามีอาการเป็นอย่างไร พร้อมการดูแลรักษา จะได้รู้ทันโรค และปลอดภัยจากปอดบวมค่ะ

ทำความรู้จักกับโรคปอดบวม

PNEUMONIA

“โรคปอดบวม” หรือ Pneumonia คือ เป็นโรคทางเดินหายใจ หรือโรคปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และฟังไจ (Fungi) ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง มีการอักเสบของปอด ทำให้ถุงลมปอดเต็มไปด้วยหนองหรือสารคัดหลั่ง ส่งผลให้การหายใจไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนลดลง

โรคปอดบวมเกิดขึ้นได้อย่างไร

PNEUMONIA1

โรคปอดบวมเป็นผลที่เกิดจากโรคทางเดินหายใจที่อาจมีความรุนแรงไม่มาก แต่อาจทวีความรุนแรงขึ้นหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ด้วยสาเหตุต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • เชื้อไวรัส เช่น RSV หรือ ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น
  • เชื้อแบคทีเรีย เช่น Streptococcus pneumoniae, Haemophilus influenzae (Hip), Mycoplasma, E.coli เป็นต้น
  • เชื้อรา Chlamydia
  • สารเคมีต่างๆ

อาการของโรคปอดบวม

PNEUMONIA2

มีอาการหลายอย่างที่บ่งบอกถึงการเป็นปอดบวมที่ควรหมั่นสังเกต โดยเฉพาะในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่อาจติดเชื้อของโรคปอดบวมได้ง่าย ดังต่อไปนี้

  • มีอาการเจ็บหน้าอกเมื่อไอ หรือหายใจ
  • ไอพร้อมมีเสมหะ และมักมีเสียงเสมหะในปอด
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • มีไข้สูง ตัวร้อน
  • มีเหงื่อและมีอาการหนาวสั่น
  • มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และบางรายมีอาการท้องเสีย
  • หายใจสั้น

หลายคนที่มีอาการดังกล่าวข้างต้น รวมทั้งมีอาการไอเป็นเลือด หรือหายใจได้สั้นมาก แนะนำว่าควรพาไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

การรักษาโรคปอดบวม

PNEUMONIA3

การรักษาโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อ หรือโรคปอดบวม เป็นการรักษาการติดเชื้อร่วมกับการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น โดยทางเลือกในการรักษาประกอบด้วย
1. การให้ยาปฏิชีวนะ

เป็นการรักษาในกรณีของการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยแพทย์จะเลือกใช้ยาปฏิชีวนะตามเชื้อที่คิดว่าเป็นสาเหตุของโรคจากข้อมูลทางคลินิกและทางระบาดวิทยา อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันพบว่าการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างแพร่หลายอาจทำให้เชื้อบางชนิด เช่น Streptococcus Pneumoniae มีการดื้อยาเพิ่มมากขึ้น

2. การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ

สำหรับผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส และเชื้ออื่นๆ ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาให้รักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้แก้ปวด ยาลดน้ำมูก ยาขยายหลอดลม ยาแก้ไอละลายเสมหะ หรือยาพ่นเพื่อทำให้ปอดขยายตัวและทำงานดีขึ้น เป็นต้น ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจจำเป็นต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ให้ออกซิเจน และทำกายภาพบำบัดทรวงอก เป็นต้น ผู้ป่วยโรคปอดบวมต้องให้นอนพักมากๆ และดื่มน้ำให้เพียงพอ ในรายที่ไข้สูงและอ่อนเพลียมากอาจได้รับสารละลายทางหลอดเลือดดำและนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล

3. การรักษาภาวะแทรกซ้อน

เป็นกรณีที่พบได้ในกลุ่มเสี่ยง โดยภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยได้แก่ เชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายจากปอดเข้าสู่กระแสเลือดส่งผลให้อวัยวะอื่นๆ ติดเชื้อตามไปด้วย บางรายอาจพบฝีในปอด หรือเกิดภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดที่จำเป็นต้องเจาะ หรือดูดออก ในรายที่อาการรุนแรงมาก ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะหายใจล้มเหลวซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตและจำเป็นต้องใส่ท่อเข้าหลอดลมร่วมกับเครื่องช่วยหายใจ

วิธีป้องกันโรคปอดบวม

INJECTION

โรคปอดบวมโดยเฉพาะที่เกิดจากการติดเชื้ออาจมีความรุนแรงมากจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ การป้องกันโรคจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรค

ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำหรือมีโรคประจำตัวบางอย่าง ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันที่ให้ผลในการลดอัตราการเกิดโรคปอดอักเสบ หรือปอดบวมจากการติดเชื้อ ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ (Flu Vaccine) และวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ (Pneumococcal Vaccine) สำหรับป้องกันการติดเชื้อ Streptococcus Pneumonia หรือที่เรียกกันว่าเชื้อนิวโมคอคคัส โดยวัคซีนนี้ มี 2 ชนิด คือ

  • วัคซีนแบบโพลีแซคคาไรด์ (Polysaccharide) เป็นวัคซีนสำหรับฉีดในผู้ใหญ่ที่มีปัจจัยเสี่ยงและผู้สูงอายุ โดยควรฉีดซ้ำหลังจากเข็มแรก 5 ปี
  • วัคซีนแบบคอนจูเกต (Conjugate) เป็นวัคซีนที่แบ่งออกเป็นชนิดป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส 7 สายพันธุ์ (PCV7) 10 สายพันธุ์ (PCV10) และ 13 สายพันธุ์ (PCV13) ทั้งสามชนิดได้รับการรับรองให้ฉีดป้องกันเชื้อในเด็กตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์ – 5 ปี ยกเว้นวัคซีนชนิด 13 สายพันธุ์ที่ได้รับการรับรองให้ฉีดในผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและมีอายุ 50 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสามารถฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบพร้อมกันในวันเดียวได้ โดยฉีดคนละแขนและเป็นการฉีดแบบผู้ป่วยนอก หลังฉีดวัคซีนอาจมีอาการปวดบวมบริเวณที่ฉีดเล็กน้อยแต่จะหายเองได้ภายใน 2-3 วัน

นอกจากนี้ยังมีวิธีการป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียที่นำพาไปสู่การเป็นโรคปอดบวมได้ด้วยตัวเอง ดังนี้

  • ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ รักษาความสะอาดร่างกาย
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำให้เพียงพอประมาณ 8-10แก้ว
  • หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดหรืออากาศไม่ถ่ายเท หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกัน
  • หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย

โรคปอดบวมไม่ใช่เป็นโรคที่เกิดกับเด็ก ผู้สูงอายุ หรือบุคคลในกลุ่มเสี่ยงเสมอไป โรคปอดบวมหรือปอดอักเสบสามารถเกิดกับใครก็ได้ไม่ว่าร่างกายจะแข็งแรงสักแค่ไหน ดังนั้น ในหน้าหนาวนี้ที่เรากำลังรู้สึกสดชื่น และสดใส หมั่นสังเกตและดูแลคนใกล้ชิด รวมทั้งตัวเอง หากมีอาการป่วยที่ดูผิดสังเกต มากกว่าอาการของโรคหวัดทั่วไป แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาโดยทันที เพื่อที่เราทุกคนจะได้แข็งแรง และสดชื่นแจ่มใสรับปีใหม่ 2023 ค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก: parade.com/ chularat3.com/ bumrungrad.com

Picture credit: pinterest.com