รักษาร้อนใน

ร้อนในเกิดจากอะไร ป้องกันและรักษาได้อย่างไร

โรคร้อนในหรือแผลแอฟทัส (Apthous ulcer) เป็นอาการที่มีแผลเปื่อย พบในบริเวณช่องปากจะเป็นร้อนในกระพุ้งแก้มลิ้น หรือส่วนใดส่วนหนึ่งภายในช่องปากได้ อาจจะมีแผลเดียวหรือหลายแผลก็ได้ มีขนาดตั้งแต่เล็กจนใหญ่ถึงหลายเซ็นติเมตร แผลเหล่านี้มักจะมีอาการเจ็บ แสบมาก มีผลต่อการทานอาหารที่ไม่สะดวก การขยับริมฝีปาก ซึ่งสร้างความรำคาญให้กับเจ้าตัวเป็นอย่างมาก สาเหตุที่ทำให้เกิดร้อนในมีหลายอาการ เราไปดูกันว่าร้อนในเกิดจากอะไร ป้องกันและรักษาได้อย่างไร? ถ้าเป็นร้อนในกินอะไรดี?

ร้อนในเกิดจากอะไร?

ปัจจุบันยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัดว่า “ร้อนใน” เกิดจากอะไร? แต่ก็เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรม การปฏิสัมพันธ์กับภูมิต้านทานของร่างกาย และมีอาการเกิดขึ้นเอง โดยสาเหตุที่ก่อให้เกิดร้อนในส่วนใหญ่ ได้แก่

  • เมื่อเคี้ยวอาหารกัดโดนเนื้อเยื่อข้างกระพุ้งแก้ม
  • การพักผ่อนไม่เพียงพอ นอนดึกเป็นเวลาหลายคืนติดต่อกัน ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ซึ่งส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายแปรปรวนและเกิดผิดปกติได้
  • ความเครียด ความกังวล อารมณ์หงุดหงิด โมโหง่าย อันเกิดจากปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาการทำงาน ปัญหาครอบครัว ปัญหาการเรียน ปัญหาความรัก
  • ทานอาหารรสจัดมากเกินไป เช่น รสเผ็ดจัด รสเปรี้ยวจัด รสเค็มจัด รสหวานจัด
  • ทานอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน เช่น ทานอาหารผ่านกรรมวิธีทอด ของมัน เนื้อติดมัน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหล้า เบียร์ ในปริมาณที่มากเกินไป
  • ภาวะคุ้มกันในร่างกายต่ำ คือร่างกายขาดวิตามินและเกลือแร่บางชนิด เช่น วิตามินบี 12 ธาตุเหล็ก และกรดโฟลิก
  • ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงของผู้หญิงอันเกิดจากภาวะในช่วงใกล้หรือมีประจำเดือน
  • การแปรงฟันที่แรงจนเกินไป ก่อให้เกิดการเสียดสีระหว่างแปรงกับเงือก
  • การบริโภคน้ำที่ไม่เพียงพอต่อร่างกายที่ต้องการในแต่ละวัน
  • ในแพทย์แผนจีนมักเชื่อว่าความร้อนเย็นในร่างกายไม่มีความสมดุล คือการได้รับความร้อนมากเกินไป หรือที่เรียกว่า “หยิน” บกพร่อง

ด้วยสาเหตุเหล่านี้อาจก่อให้เกิดโรคร้อนในได้ ตามมาด้วยอาการแผลหรือตุ่มแดงเล็กๆ เกิดขึ้นในบริเวณช่องปากด้านใน กระพุ้งแก้ม บริเวณบนหรือใต้ล่างของลิ้นประมาณ 2 – 3 วัน จนกลายเป็นเม็ดสีขาว กลมๆ หรือรูปทรงไข่ มีอาการบวมแดงจนรู้สึกอักเสบ เจ็บแสบมาก ในช่วง 2 -3 วันแรก และหากผู้ป่วยทานอาหารที่มีรสเผ็ดจัดหรือรสเปรี้ยวจัด จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแสบแผลมาก เมื่อแผลร้อนในเริ่มหายอาการเจ็บจะลดลงจนหายไปในที่สุด หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์ทันที

ป้องกันและรักษาร้อนในได้อย่างไร?

  • เคี้ยวอาหารช้าๆ เคี้ยวด้วยความระมัดระวัง
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 8 – 10 ชั่วโมง
  • ไม่ปล่อยให้ตัวเองเครียดจนเกินไป ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินออกมาจะช่วยลดความเครียดได้และผ่อนคลายร่างกายและใจให้เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัดมากเกินไป
  • ไม่ทานอาหารที่มีฤทธิ์ร้อนในปริมาณที่มากเกินไป
  • ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ รับประทานผักและผลไม้เพื่อให้ร่างกายได้รับแร่ธาตุ วิตามินที่เพียงพอ
  • แปรงฟันให้อยู่ในระดับความแรงที่พอดี ไม่แรงจนเกินไป
  • บริโภคน้ำให้เพียงพอต่อร่างกายที่ต้องการ คือ 8 – 10 แก้วต่อวัน

โดยปกติโรคร้อนในสามารถหายเองได้ใน 1 สัปดาห์ แต่หากผู้ป่วยมีแผลขนาดใหญ่หรือต้องการให้แผลหายไวๆ ก็สามารถรักษาได้ ดังนี้

  • ยาทาแก้ร้อนใน ซึ่งเป็นยาที่อยู่ในกลุ่มยาสเตียรอยด์ ชนิดทา ช่วยลดอาการอักเสบ ปวดบวมของแผล
  • บ้วนน้ำเกลือ โดยผู้ป่วยอมน้ำเกลือและบ้วนทิ้ง น้ำเกลือจะช่วยบรรเทาอาการอักเสบ บวม แดง ของแผลได้

ถ้าเป็นโรคร้อนในกินอะไรดี

นำสมุนไพรที่มีฤทธิ์นำไปต้มและดื่มเป็นน้ำสมุนไพรจะช่วยบรรเทาอาการร้อนใน แก้กระหายน้ำ ขับเสมหะ แก้ท้องเสียได้ดี สมุนไพรฤทธิ์เย็นมี ดังนี้

  • เก๊กฮวย สมุนไพรเย็น ช่วยแก้ร้อนใน ให้ความสดชื่น แก้อาการตัวร้อน บำรุงสายตา ขับลมในลำไส้
  • มะตูม ช่วยแก้ร้อนใน แก้ท้องเสีย ขับเสมหะ ลดอาการอักเสบ ช่วยให้ชุ่มคอ
  • หล่อฮั้งก้วย สมุนไพรจีนที่มีสรรพคุณ ดับร้อน แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ดับพิษร้อน บรรเทาอาการอักเสบ ท้องผูก
  • ใบบัวบก มีวิตามินมากมาย ช่วยแก้อาการร้อนใน รักษาอาการเจ็บคอ ช่วยผ่อนคลายความเครียด
  • ตำลึง ช่วยรักษาแผลอักเสบ บรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อนของแผล ป้องกันอาการท้องผูก ขับสารพิษในลำไส้

สำหรับอาการร้อนใน ไม่ว่าจะเป็นร้อนในกระพุ้งแก้ม ใต้ลิ้น เราก็สามารถป้องกันและรักษาเองได้ไม่ยาก และยังไม่ต้องกังวลว่าเป็นร้อนในกินอะไรดี เพราะวิธีเหล่านี้จะช่วยบรรเทาอาการแผลร้อนในของเพื่อนๆ ให้หายเร็วขึ้นได้ แต่หากพบว่ามีอาการผิดปกติ รักษายังไงก็ยังไม่บรรเทา เราขอแนะนำว่าควรไปพบแพทย์ให้วินิจฉัยจะดีกว่า