Central Inspirer ชวนคุณแม่คุณพ่อแก้ปัญหาลูกนอนดูดนิ้ว

สำหรับคุณแม่ การดูแลลูกน้อยถือเป็นอาชีพหลัก เป็นหน้าที่หลักที่คุณต้องทำทุกอย่างในการดูแลลูก ตั้งแต่การให้นม ป้อนอาหาร อาบน้ำทำความสะอาด เล่นกับลูก รวมทั้งยังเฝ้าดูและ ส่งเสริมพัฒนาการและการเจริญเติบโตของลูกด้วยความสุขและความภาคภูมิใจ ลูกน้อยนับเป็นสมบัติล้ำค่าของคุณแม่คุณพ่อทุกคน

มีอยู่หนึ่งพฤติกรรมที่อาจสร้างความกังวลให้กับคุณแม่คุณพ่อคือ การดูดนิ้วของลูก เด็กๆ หลายคนดูดนิ้วในเวลานอนหลับ หรือแม้แต่ในเวลากลางวัน ทุกครั้งที่เห็นลูกดูดนิ้ว คุณแม่คุณพ่อหลายคนอาจปล่อยไป ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นปัญหาอะไร อีกหลายคนอาจเข้าไปดึงนิ้วออกจากปากลูกโดยไม่มีคำอธิบายใดๆ แต่ดูเหมือนว่าวิธีนี้ไม่ได้ช่วยให้ลูกดูดนิ้ว แถมลูกอาจรู้สึกงงๆ ไม่เข้าใจได้ เลยดูดนิ้วกันต่อไป 

การดูดนิ้วของเด็กอาจทำให้คุณแม่คุณพ่อหลายคนมีความกังวลใจว่าต่อไปอาจมีผลกับฟันหน้า หรือมีผลกับบุคคลิกภาพของลูกในอนาคตหรือไม่ Central Inspirer อยากช่วยคุณแม่คุณพ่อที่กำลังประสบปัญหานี้พบคำตอบ และหาวิธีการแก้ไขไม่ให้ลูกน้อยดูดนิ้วอีกต่อไป

Thumb Sucking 1Picture credit: medlandorthodontics.com.au

การดูดนิ้วของเด็กคืออะไร?

การดูดนิ้วของเด็ก หรือ Thumb Sucking เป็นพฤติกรรมปกติตามธรรมชาติที่พบเห็นได้ในเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 2 ขวบ เด็กทารกและเด็กเล็กจะดูดนิ้ว หรือสิ่งของต่างๆ เพื่อความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย โดยเฉพาะตอนจะนอน หรือเคลิ้มหลับ เพราะการดูดนิ้วทำให้เด็กรู้สึกสงบผ่อนคลาย คุณแม่คุณพ่อจะสังเกตได้ว่าเด็กที่เริ่มเอื้อมมือคว้าของได้นั้น จะนำของเข้าปากทันที ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อทำความรู้จักกับอวัยวะร่างกายของตนเอ นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างความสุขเล็กๆ น้อยๆ ให้กับตนเองอีกด้วย รวมทั้งเป็นจุดเริ่มต้นของการสัมผัสและเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยเฉพาะในเด็กที่ไม่มีกิจกรรมอื่นให้รู้สึกสนุก หรือมีความสุขไปมากกว่าการดูดนิ้ว และไม่เฉพาะเพียงแต่นิ้วมือเท่านั้น เด็กหลายคนยังเพลินถึงกับดูดนิ้วเท้าด้วย ในเด็กบางคนมีการดูดนิ้วมาตั้งแต่ในครรภ์ เด็กบางคนชอบดูดนิ้วเพราะรู้สึกเพลิน บางคนเหงาเลยปลอบใจตัวเอง ดังนั้นพฤติกรรมการดูดนิ้วของทารกหรือเด็กจึงมาจากหลากหลายสาเหตุมากมาย

ปล่อยให้ลูกดูดนิ้วมากไปไม่ใช่เรื่องดี

หากในหนึ่งวัน คุณหันไปเห็นลูกน้อยกำลังดูดนิ้วบ้างเป็นครั้งคราว นั่นอาจเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่น่าเป็นห่วงสักเท่าไหร่ แต่หากลูกน้อยดูดนิ้วอยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นปัญหาที่คุณแม่ควรหาทางแก้

โดยปกติแล้วอาการดูดนิ้วของเด็กในช่วงขวบแรกเป็นเรื่องปกติ ซึ่งจะลดลงได้เองในช่วงอายุ 2 – 4 ขวบ แต่หากเด็กติดดูดนิ้วไปจนอายุเกินกว่า 4 ปี อาจส่งผลให้ฟันยื่นเหยินและการสบฟันผิดปกติได้ โดยผลเสียของการดูดนิ้วหรือการใช้จุกหลอกติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจทำให้การสบฟันผิดปกติ

ในการสบฟันตามปกติ ฟันกรามบนจะเติบโตคาบเกี่ยวกับฟันล่าง แต่ในกรณีที่มีแรงดันจากนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ หรือจุกนม มันจะรบกวนการเจริญเติบโตของฟันและเหงือก แม้กระทั่งขากรรไกร ในบางรายอาจพบว่ามีปัญหา “ฟันสบเปิด” ซึ่งหมายถึงอาการที่ฟันของเด็กไม่สบกันตามปกติ แต่เกิดเป็นช่องว่างระหว่างฟันบนและฟันล่าง นั่นคือเหตุผลที่การดูดนิ้วเป็นสิ่งที่คุณแม่ควรระวัง เพราะอาจเป็น

การดูดนิ้วส่งผลต่อปัญหาทางสุขภาพและทันตกรรม

นอกจากนี้การที่เด็กเอานิ้วเข้าปากเพื่อดูดบ่อยๆ อาจทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เกิดอาการเสี่ยงกับการเจ็บป่วยได้ การดูดนิ้วอาจก่อให้เกิดเชื้อราในเล็บได้ เพราะเล็บและนิ้วของเด็กโดนความชื้นจากน้ำลายอยู่ตลอดเวลา สุดท้ายมันยังส่งผลต่อบุคคลิกภาพ หากคุณปล่อยให้ลูกดูดนิ้วจนโต จะทำให้ลูกดูเป็นคนขาดความมั่นใจและเสียบุคลิกภาพเป็นอย่างมาก

เมื่อทราบแล้วว่าการดูดนิ้วในเด็กส่งผลทางพฤติกรรมและอาจก่อให้เกิดปัญหาทางทันตกรรมของเด็ก ดังนั้นคุณแม่ควรหาวิธีช่วยให้ลูกน้อยเลิกดูดนิ้ว Central Inspirer ขอแนะนำ 9 วิธีช่วยให้ลูกน้อยเลิกดูดนิ้ว

9 วิธีง่ายๆ ช่วยลูกน้อยเลิกดูดนิ้ว

Thumb Sucking 2Picture credit:.healthgrades.com

1. สังเกตพฤติกรรมว่าลูกดูดนิ้วตอนไหน

หากคุณสังเกตุว่าลูกน้อยชอบดูดนิ้วก่อนนอน ลองหาวิธีที่ช่วยทำให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายก่อนนอน เช่น ให้ลูกดื่มนมอุ่นๆ สักแก้ว สร้างความเพลิดเพลินและอุ่นใจด้วยการเล่านิทานก่อนนอนให้ฟัง หากลูกดูดนิ้วขณะนอนหลับก็ค่อยๆ ดึงนิ้วออกจากปากลูกอย่างนุ่มนวล หรือถ้าลูกแสดงพฤติกรรมดูดนิ้วเวลาที่โกรธ หรือไม่สบายใจ ลองจับเข่าคุยกับลูก และหาวิธีฝึกสมาธิ ควบคุมอารมณ์ ให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย ถึงแม้ลูกจะเป็นเด็กเล็กอาจไม่เข้าใจนักกับการสื่อสารของคุณ แต่ด้วยการสัมผัส ความรัก และความอ่อนโยนจากคุณแม่คุณพ่อจะช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกผ่อนคลาย และละลายพฤติกรรมในการดูดนิ้วในขณะที่หงุดหงิด หรืออารมณ์ไม่ดีได้ 

2. ทำความเข้าใจกับลูกเรื่องการเลิกดูดนิ้ว

การสื่อสารกับเด็กเล็กเพื่อให้เข้าใจเรื่องการให้เลิกดูดนิ้วอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเด็กเล็กๆ อาจยังไม่มีความเข้าใจ แต่คุณแม่คุณพ่อต้อร่วมมือกัน ใช้ความอ่อนโยน การสัมผัส สื่อความรักที่คุณมีต่อลูก หากคุณต้องการดึงนิ้วออกจากปากลูกน้อยก็ต้องทำด้วยความนุ่มนวล พยายามสื่อสารว่าการดูดนิ้วนั้นไม่ดี นิ้วไม่สะอาด เชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายลูกน้อยได้ อย่าเบื่อหน่อยในการสื่อสาร แนะนำ พูดคุยกับลูกเรื่องการเลิกดูดนิ้วทุกครั้งที่คุณเห็นลูกมีพฤติกรรมการดูดนิ้ว นานวันไป การดูดนิ้วของลูกจะลดน้อยลงไปค่ะ

3. อย่าใช้อารมณ์ อย่าดุเมื่อลูกดูดนิ้ว

เมื่อเห็นลูกดูดนิ้ว พยายามอย่าดุ อย่าตี อย่าทำโทษ หรือพูดเสียงแข็งว่า “ห้ามดูดนิ้ว!” เพราะอาจทำให้เด็กตกใจ เด็กเครียด และเก็บกดจนดูดนิ้วบ่อยกว่าเดิม เด็กอาจเกิดพฤติกรรมต่อต้าน เพราะลูกน้อยไม่เข้าใจหรอกว่าทำไมจะต้องเลิกดูดนิ้ว ลองเปลี่ยนจากการห้ามมาเป็นการสื่อสารทำความเข้าใจ รวมทั้งการชื่นชมหากเห็นว่าลูกเลิกดูดนิ้วไปนานๆ พร้อมสื่อสารให้ลูกรู้ว่าดูดนิ้วมากๆ ไม่ดีอย่างไร

4. ห้ามแต้มอาหารรสจัดบนนิ้วมือลูก

คนโบราณสอนว่า อยากให้ลูกน้อยเลิกดูดนมจากเต้า ให้ใช้บอระเพ็ดทาที่หัวนม เมื่อเด็กได้รับรสขมๆ ก็จะหย่านมไปเอง สำหรับวิธีนี้กับการให้เลิกดูดนิ้วคิดว่าเป็นสิ่งที่คุณแม่คุณพ่ออาจใช้ได้ แต่อาจเสี่ยงต่อการสร้างปมในใจเด็ก ลูกไม่เข้าใจอาจคิดว่าคุณแม่คุณพ่อใจร้าย ทำร้ายเขา นอกจากส่งผลต่อจิตใจ ยังอาจส่งผลเสียต่อร่างกายของเด็กอีกด้วย ดังนั้นการเอาของขม ของเปรี้ยว แหรือของเผ็ดทานิ้วเด็กจึงเป็นวิธีที่ไม่ควรทำนะคะ

5. ตั้งกฏกติกากับลูกและตัวคุณเอง

การให้ลูกเลิกดูดนิ้วอาจไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลา คุณอาจค่อยๆ ให้ลูกเลิกดูดนิ้วด้วยการตั้งกฏเกณฑ์โดยปล่อยให้ลูกดูดนิ้วเฉพาะในเวลานอน หรือเวลาอยู่ในห้องนอนเท่านั้น โดยในแต่ละครั้งอาจยอมให้ลูกดูดนิ้วได้ 30 นาที – 1 ชั่วโมง ไม่ควรปล่อยให้ดูดนิ้วนานๆ กำหนดเป้าหมายพร้อมสื่อสารกับลูก คุณแม่คุณพ่อเองก็ต้องจดจำกฏกติกาของเราเกี่ยวกับลูกดูดนิ้วของลูกให้ได้ และให้รางวัล พร้อมคำชมเชย เมื่อลูกดูดนิ้วได้น้อยลงตามเป้า เพื่อเป็นกำลังใจให้ลูกเลิกดูดนิ้วได้สำเร็จ

6. ใช้อุปกรณ์ป้องกันการดูดนิ้ว 

ในปัจจุบันมีอุปกรณ์มากมายที่จะช่วยให้ลูกเลิกดูดนิ้วที่เรียกว่า Finger Guard โดยผลิตจากพลาสติกบางเบา หรือนถุงมือผ้านุ่มๆ ทุกผลิตภัณฑ์ถูกออกแบบมาเพื่อเด็ก จึงมั่นใจได้ในความปลอดภัย แต่อาจจะต้องใส่ทีเผลอ โดยเฉพาะในเวลาหลับ เพราะหากลูกน้อยรู้ตัว เขาอาจจะแสดงพฤติกรรมต่อต้าน ไม่สนุกกับการใส่อุปกรณ์ป้องกันการดูดนิ้ว และไม่ยอมใส่ได้

7. เบี่ยงเบนพฤติกรรมของลูก

เมื่อลูกเริ่มดูดนิ้ว ควรรีบเบนความสนใจของลูกด้วยของ หรือกิจกรรมอย่างอื่น เช่น ของเล่น เสียงเพลง เล่นปั้นแป้ง หรือหากเป็นเด็กโตหน่อย อาจเป็นกิจกรรมที่ลูกรู้สึกสนุกและทำได้ ช่น ชวนลูกน้อยวาดรูป ระบายสี ชวนลูกเข้าครัวช่วยคุณแม่ทำขนม หรือทำอาหาร ชวนลูกช่วยจัดเก็บบ้าน ชวนออกไปเล่นนอกบ้านกับคุณพ่อเพื่อไม่ให้ลูกน้อยมือว่าง และสนใจในกิจกรรมอื่นๆ มากกว่าการดูดนิ้ว

8. หมั่นทำความสะอาดนิ้วของลูก

วิธีนี้อาจไม่ได้ช่วยให้ลูกหยุดพฤติกรรมการดูดนิ้วได้ แต่เพื่อความสะอาดและปลอดภัยของลูกน้อย หมั่นตัดเล็บลูกให้สั้น และล้างมือลูกให้สะอาดอยู่เสมอ เมื่อเวลาเขาเผลอดูดนิ้วเราจะได้แน่ใจว่านิ้วมือของลูกสะอาดพอ คุณแม่อย่าลืมสังเกตด้วยว่าที่มือของลูกมีอาการอักเสบ คัน หรือเป็นแผลจากการดูดนิ้วหรือไม่

9. พาลูกไปหาพบทันตแพทย์

ตามทฤษฎี ลูกน้อยจะเลิกดูดนิ้วเมื่อมีอายุมากขึ้น แต่มันก็ไม่แน่เสมอไป เด็กบางคนแม้มีอายุ 5 – 6 ขวบแล้วก็ยังนอนดูดนิ้ว ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตของฟันของลูกอย่างแน่นอน ดังนั้นการเอาลูกไปพบหหมอฟันอาจช่วยไได้ เพราะลูกอาจไม่ค่อยเชื่อฟังพ่อแม่ แต่เชื่อคนอื่นมากกว่า ลองพาลูกไปหาหมอฟัน ให้คุณหมอสอนว่าการดูดนิ้วไม่ดีต่อฟันของเขายังไง ถ้าอยากมีฟันสวยต้องดูแลปากและฟันอย่างไร หมอฟันเด็กจะมีวิธีเกลี้ยกล่อมที่ดีกว่าคุณแม่คุณพ่อ และอาจทำให้เด็กเลิกพฤติกรรมการดูดนิ้วได้

หวังว่า Central Inspirer คงช่วยตอบโจทย์และแก้ปัญหาการดูดนิ้วของลูกได้ อยากบอกคุณแม่คุณพ่อว่าการดูดนิ้วของลูกไม่ใช่พฤติกรรมร้ายแรงอะไร แต่คุณต้องหาทางจัดการมันให้ได้ อย่าให้พฤติกรรมนี้ติดตัวลูกไปจนเขาเติบโตโดยคุณไม่รู้ไม่เห็น นอกจากไม่ส่งผลดีกับสุขภาพฟันของลูกแล้ว ยังส่งผลร้ายต่อบุคคลิกและความมั่นใจของลูกเมื่อเขาเติบใหญ่ ลูกของเรา เรารักสุดหัวใจ ไม่มีปัญหาอะไรที่คุณแม่คุณพ่อแก้ไขไม่ได้ มาช่วยกันให้ลูกดูดนิ้วกันเถอะค่ะ 

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: aihealth.or.th / dentalworldchiangmai.com / th.theasianparent.com