มาหัวเราะกันเถอะ! Laughing Therapy หัวเราะแล้วดียังไง?

หลายคนคงเคยได้ยินถึงความดีงามของการหัวเราะ อย่างน้อยที่สุด การหัวเราะก็ทำให้จิตใจของเราเบิกบาน ร่าเริง การที่ได้หัวเราะบ่อยๆ ทำให้เราสุขกาย สบายใจ แต่ในด้านของการบำบัด เราคงไม่เคยทราบว่าการหัวเราะนั้นมีประโยชน์อย่างไรต่อร่างกายและจิตใจ วันนี้ Central Inspirer ชวนคุณมาหัวเราะ พร้อมทำความรู้จักกับ “หัวเราะบำบัด” ว่าคืออะไร มาเรียนรู้กันว่าหัวเราะบ่อยๆ นั้นดีมีประโยชน์อย่างไรกันดีกว่า 

โดยปกติการหัวเราะแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ หัวเราะตามธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากถูกกระตุ้นให้มีอารมณ์ขัน มักเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน และการหัวเราะบำบัด หรือ Laughing Therapy ซึ่งเป็นการหัวเราะแบบรู้ตัว เพื่อใช้ประโยชน์จากการหัวเราะ ช่วยกระตุ้นให้สมองหลั่งสารเอนดอร์ฟิน (Endorphin) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เราอารมณ์ดี มีความสุข จนมีนักวิชาการบางท่านนิยามสารชีวเคมีนี้ว่าเป็น “สารแห่งความสุข”

หัวเราะบำบัดคืออะไร

LAUGH

หัวเราะบำบัด หรือ Laughing Therapy ถือเป็นการออกกำลังกายรูปแบบหนึ่งที่เน้นให้ระบบต่างๆ ภายในร่างกายทำงานขับเคลื่อนไปได้ตามปกติ ซึ่งต้องฝึกการหายใจให้ถูกต้องไปพร้อมกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย ก็จะช่วยให้ระบบต่างๆ ขับเคลื่อนได้ดีขึ้น การหัวเราะทำให้ฮอร์โมนความเครียด เช่น คอร์ซิตอล (Cortisol) และอะดรีนาลีน (Adrenaline) ลดลง ช่วยเพิ่มสารเอ็นดอร์ฟิน หรือสารความสุขให้เรารู้สึกผ่อนคลาย 

การฝึกหัวเราะบำบัดเริ่มจากฝึกหัวเราะด้วยการเปล่งเสียงต่างๆ กันคือ เสียง “โอ” ทำให้ภายในท้องขยับ เสียง “อา” ทำให้อกขยับขยาย เสียง “อู” และเสียง “เอ” ทำให้ลำคอเปิดโล่ง และช่วยบริหารใบหน้า นอกจากการออกเสียงแล้วยังมีท่าหัวเราะบำบัดอื่นๆ ที่ให้ประโยชน์ในการบำบัดที่แตกต่างกันดังต่อไปนี้

1. ท่าท้องหัวเระ หรือการออกเสียง “โอ” 

เป็นท่าที่เริ่มต้นด้วยการยืนตัวตรง กางขาเล็กน้อย กางแขนออกไปด้านข้างลำตัว งอแขนเล็กน้อย กำมือทั้ง 2 ข้างโดยชูนิ้วหัวแม่มือขึ้น ตามองตรง สูดลมหายใจเข้าปอดลึกๆ และกักลมไว้ ค่อยๆ เปล่งเสียง “โอ โอะๆ ๆ…” แล้วปล่อยลมหายใจออกมาช้าๆ พร้อมกับขยับแขนขึ้นลง ท่าท้องหัวเราะช่วยให้กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ตับ และไตได้เคลื่อนไหว ระบบทางเดินอาหารจึงทำงานดีขึ้น ช่วยบำบัดโรคลำไส้อักเสบ กระเพาะอาหาร ท้องผูก และท้องเสีย รวมถึงคนที่มีปัญหาเบื่ออาหาร หรือคนอ้วนมีพุง

2. ท่าอกหัวเราะ หรือการออกเสียง “อา” 

เริ่มต้นด้วยการกางขาเล็กน้อย กางแขนออกไปข้างลำตัวเหมือนนกกระพือปีก หงายมือขึ้น ปล่อยมือตามสบาย ตามองตรง สูดลมหายใจเข้าลึกๆ กักลมไว้ ค่อยๆ เปล่งเสียง “อา อะ ๆ ๆ…” ดังๆ พร้อมกับปล่อยลมหายใจออกช้าๆ และกระพือแขนขึ้นลง การฝึกท่าอกหัวเราะช่วยทำให้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก หัวใจ ปอด และไหล่ได้ขยับเขยื้อน ช่วยบำบัดโรคความดัน โรคหัวใจ โรคปอด อาการเจ็บแน่นหน้าอก เส้นเลือดหัวใจตีบ และโรคหัวใจขาดเลือด ช่วยให้การเต้นของหัวใจทำงานปกติ การสูบฉีดและการไหลเวียนโลหิตดีขึ้น

3. ท่าคอหัวเราะ หรือการออกเสียง “อู” 

ยืนตัวตรง กางขาเล็กน้อย แขนแนบลำตัวและยกตั้งฉากชี้ไปข้างหน้า งอนิ้วนางกับนิ้วก้อยเข้าหาตัว ยกนิ้วหัวแม่มือขึ้น ส่วนนิ้วชี้กับนิ้วกลางชี้ไปข้างหน้าลักษณะชิดกันเหมือนท่ายิงปืน ตามองตรง สูดลมหายใจเข้าลึกๆ แล้วกักลมไว้ ค่อยๆ เปล่งเสียง “อู อุ ๆ ๆ…” ปล่อยลมหายใจออกช้าๆ พร้อมกับแทงมือไปข้างหน้า ท่าคอหัวเราะช่วยกระตุ้นให้บริเวณลำคอสั่น บรรเทาอาการเจ็บคอ คออักเสบ และปวดคอ ท่านี้เหมาะกับคนที่มีปัญหาจากการใช้เสียงเยอะ เช่น ครู อาจารย์ นักพูด นักร้อง นักแสดง เพราะช่วยให้คอโล่งและรักษาโทนเสียงได้ดี

4. ท่าใบหน้าหัวเราะ หรือการออกเสียง “เอ”

เริ่มต้นจากการปล่อยตัวยืนตามสบายแล้วค่อยๆ ยกมือขึ้นมาตามถนัด สูดลมหายใจลึกๆ และขยับทุกนิ้วทั้งหัวแม่มือ ชี้ กลาง นาง และก้อย ตามองตรง ระหว่างนั้นให้เปล่งเสียง “เอ เอะ ๆ ๆ…” ออกมาด้วย ท่าใบหน้าหัวเราะช่วยคลายความเครียด ลดอาการปวดศีรษะ และอาการปวดสมอง เพราะเมื่อเปล่งเสียงเอ ใบหน้าจะมีลักษณะเหมือนกำลังฉีกยิ้มโดยอัตโนมัติ

5. ท่าจมูกหัวเราะ 

โดยเริ่มจากการย่นจมูกขึ้นและทำเสียง “ฮึ ๆ ๆ …” ในจมูกเหมือนม้า ท่านี้จะไล่สิ่งสกปรกในจมูกออกมาได้อย่างดี จึงสามารถช่วยบำบัดอาการเกี่ยวกับภูมิแพ้ โรคไซนัส และอาการเป็นหวัด 

6. ท่าตาหัวเราะ 

เพียงกะพริบตาถี่ๆ กรอกตาขึ้นลงเป็นวงกลม แล้วเปล่งเสียง “อ่อยๆ ๆ …” เล่นหูเล่นตา มองซ้ายทีขวาที ท่านี้จะช่วยให้มีนํ้าหล่อเลี้ยงที่ตา ทำให้ดวงตาชุ่มชื้นและผ่อนคลาย

7. ท่าไหล่หัวเราะ 

ทำท่านี้ด้วยการยืนตรง ส่ายไหล่ไปมาเหมือนกำลังว่ายนํ้าท่าฟรีสไตล์ พร้อมเปล่งเสียง “เอ เอะ ๆ ๆ …” จะช่วยบริหารช่วงไหล่ ลดปัญหาเกี่ยวกับไหล่ เป็นต้น

หัวเราะวันละนิดนั้นมีประโยชน์อย่างไร

LAUGH

1. ช่วยด้านระบบหายใจ

ระหว่างที่หัวเราะร่างกายมีการหายใจเข้า กลั้นหายใจ และหัวเราะ หายใจออกยาวๆ ทำให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนถ่ายออกซิเจน ฟอกเลือดดำให้เป็นเลือดแดง ช่วยป้องกันโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ทั้งไข้หวัด ไซนัส ภูมิแพ้ โรคปอด หอบหืด ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ

2. ช่วยด้านระบบย่อยอาหารและการขับถ่าย

เมื่อหัวเราะจะทำให้เกิดการบริหารกระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ และลำไส้เล็ก ทำให้ระบบย่อยอาหารและการขับถ่าย ทำงานดีขึ้น

3. ช่วยด้านระบบไหลเวียนโลหิต

การหัวเราะทำให้หัวใจทำงานเป็นระบบขึ้นป้องกันอาการเวียนศีรษะ เจ็บแน่นหน้าอก เส้นเลือดหัวใจตีบตัน โรคหัวใจ ตลอดจนอาการใจสั่น

4. ช่วยด้านระบบทำงานของสมอง

การหัวเราะช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์ประสาทสมอง ส่วน Prefrontal Cortex บริเวณสมองส่วนหน้า ที่ทำให้เกิดการหลั่งของสารชีวเคมีตัวหนึ่งที่ชื่อว่า endorphin มีฤทธิ์ทำให้เกิดความสุข ส่งผลทำให้มีอารมณ์ดี

5. ช่วยเพิ่มสัญชาติญาณการอยู่รอด

หัวเราะบำบัดจะทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวคล่องแคล่ว แข็งแรง ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน กระตุ้นการทำงานของเซลล์ประสาท กระดูก กล้ามเนื้อ ร่างกายทำงานเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ และยังช่วยป้องกันโรคซึมเศร้าได้ด้วย

6. ช่วยด้านระบบเจริญพันธุ์

การหัวเราะบำบัด ส่งผลต่อการทำงานของสมองส่วนนอก ส่วนกลาง และส่วนใน ให้ทำงานดีขึ้น เป็นระบบ และยังช่วยให้ อารมณ์ดี พัฒนาอารมณ์รัก และการมีเพศสัมพันธ์ และช่วยป้องกันการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

จะเห็นได้ว่าการหัวเราะนั้นอาจไม่ได้เกิดจากอารมณ์เพียงอย่างเดียว แต่สามารถสร้างขึ้นเพื่อเป็นการบำบัด ช่วยทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ อย่างไรก็ตามการหัวเราะไม่ว่าจะเป็นแบบธรรมชาติ หรือหัวเราะบำบัด การหัวเราะทำให้โลกนี้สดใส ช่วยขจัดความเครียด และความทุกข์ออกไป ช่วยให้เรามองโลกอย่างแจ่มใส ลืมความทุกข์ ความเศรา้แล้วมาหัวเราะกันดีกว่าค่ะ 

ขอบคุณข้อมูลจาก: thaihealth.or.th / chiangmainews.co.th / tnnthailand.com

Picture credit: pinterest.com